ถอดรหัสความล้มเหลว พ.ร.บ.การศึกษาฯ เมื่ออนุทิน” ตีกลับร่าง ให้ศธ.ทบทวน เพื่อความรอบคอบ-เหมาะสม-ชัดเจน!!

 

ถอดรหัสความล้มเหลว พ.ร.บ.การศึกษาฯ เมื่ออนุทิน” ตีกลับร่าง  ให้ศธ.ทบทวน เพื่อความรอบคอบ-เหมาะสม-ชัดเจน!!   

 

วิชชา เพชรเกษม : edunewssiam รายงาน

 

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที จากรายงานข่าว เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยผู้สื่อข่าว ผู้ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ แจ้งเรื่องที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ส่งคืนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อกลับไปพิจารณาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ เหมาะสม และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ใน 6 ประเด็นหลัก  

 

จับ สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 ยังมิได้ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ได้แก่

 

การเรียนรู้ตลอดชีวิต

การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ  

การส่งเสริมหน่วยงานที่ร่วมจัดการศึกษาในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

การยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

ปัญหาโครงสร้างและภารกิจ กลไกการบริหารงาน และ

การกำหนดตำแหน่งและอัตรากำลังของ ศธ.ในภาพรวม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มีลักษณะทับซ้อน  

 

ซึ่งประเด็นดังกล่าว ควรเน้นให้มีการบูรณาการการทำงานและใช้ทรัพยากรร่วมกัน และลดความซ้ำซ้อนของภารกิจ

 

  

 

นายอรรถพล เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้สั่งการให้ สภาการศึกษาเป็นหน่วยงานหลักประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาทบทวน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ให้ครอบคลุมตามข้อสั่งการของนายอนุทิน และให้รายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ

 

และทาง สกศ.ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.... ในประเด็นที่รองนายกฯสั่งให้มีการทบทวนขึ้นใน 4 ภูมิภาค แล้ว

 

ขณะเดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สกศ. ได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับทราบถึงประเด็นข้อกังวลต่าง ๆ ว่า..มีเรื่องปลีกย่อยอะไรบ้าง

 

ซึ่งเท่าที่รับฟังสมาชิกสภาผู้แทนฯส่วนใหญ่  ไม่ต้องการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ฉบับนี้ แต่ต้องการให้นำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ขึ้นมายกร่าง เพราะน่าจะมีเนื้อหาและรายละเอียดที่ครอบคลุมมากกว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

 

ดังนั้น สกศ.จึงได้นำพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ขึ้นมาปรับปรุงและแก้ไขใหม่ พร้อมกับทำรายละเอียด ข้อเด่น ข้อด้อย เปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาการศึกษาฉบับใหม่นี้ เพื่อเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ได้พิจารณาต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม edunewssiam มองการตีกลับของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ส่งคืนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อกลับไปพิจารณาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ เหมาะสม และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังกล่าวว่า...

 

 

นั่นคือ สิ่งที่สะท้อนความบิดเบี้ยว ของ กระบวนการพิจารณาความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ ท่ามกลางความเร่งรีบและร้อนรนในช่วงที่ผ่านมาก่อนหมดวาระ ของ รัฐบาล ในชุดที่ผ่านมา และการทำงานของสภาการศึกษา ขาดความเป็นมืออาชีพ

 

จึงทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ยังคงดังกระหึ่มทั้งก่อนหน้านี้และหลังจากนี้จะมีตามมาอีกแน่นอน

 

หมายความว่า กระบวนการพิจารณาความจำเป็นของกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ฉบับนี้ สภาการศึกษา อาจยังไม่ได้รวมเอาเสียงของทุกภาคส่วนเข้ามาอย่างแท้จริง

 

หรือสภาการศึกษา อาจจะเลือกที่จะทำงานให้แค่ผ่านพ้นไป เนื่องจากผู้บริหารองค์กรขาดขวัญกำลังใจ จึงทำให้บุคลากรไร้ประสิทธิภาพ ไร้วิสัยทัศน์ ขาดความกระตือรือร้น มากกว่าจะเป็นเสาหลัก  

 

ทั้ง ๆ ที่ควรมีบทบาทในการวางแผน วิเคราะห์สถานการณ์ทางการศึกษา และ คาดการณ์แนวโน้มในอนาคต มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ มีความแม่นยำและนโยบายตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีในยุคปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ยังมีคำถามหนึ่งที่รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่กำลังเตรียมการในขณะนี้ สิ่งที่ควรพิจารณา คือ  ผลลัพธ์ของ ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฯใหม่ ที่หลังมีการปรับแก้ตามที่ รองนายกฯอนุทิน ระบุ นั้น

 

อาจจะดี หรือ แย่กว่าการใช้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2542 ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ว่าไปแล้ว การที่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ถูกตีกลับ จะโทษสภาการศึกษาเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ อย่างน้อย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะฯ ไม่ว่าจะมองในมุมใด ย่อมมีส่วนรับผิดชอบด้วย ที่ขาดรอบคอบ

 

และอาจถูกมองไปว่า ขาดความรู้ สังคมมิอาจพึ่งพาให้เป็นแม่ทัพทำการใหญ่ในลักษณะผิดฝาผิดตัว และ ไม่เหมาะที่จะนั่งเก้าอี้ใหญ่ด้านการศึกษาของประเทศ ตามที่ถูกวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ ก็ได้

 

ในที่สุด การออกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....หรือกฎหมายฉบับใหม่ อาจไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้อย่างแท้จริง  

 

ดังนั้น การมีคำสั่ง ของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ให้ส่งคืนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อกลับไปพิจารณาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ เหมาะสม และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังกล่าว ทั้ง 6 ประเด็น ก็สมเหตุสมผลอยู่ ในหลายประเด็น

 

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการและทักษะของนักเรียนเปลี่ยนแปลงไป การปรับปรุง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ให้ทันสมัย ย่อมช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นศักดิ์ศรีให้ปรากฎในหมู่นานาชาติเป็นอย่างดี