ครม.ไฟเขียวงบฯ สพฐ.ตั้งศูนย์การเรียนเด็กในโรงพยาบาล 77 จ.-85 ศูนย์ฯ-ครูประจำ 151 อัตรา ดูแลรักษาต่อเนื่อง

 

 

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล 77 จังหวัด 85 ศูนย์ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อดูแลเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อเนื่อง

 

“ครม.ได้อนุมัติงบประมาณดำเนินงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จำนวนปีละ 30,327,930 บาท โดยประมาณ สำหรับจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด รวม 85 ศูนย์การเรียนรู้ และมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อดูแลเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง”

 

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ด้วยปัจจุบันในแต่ละปี มีเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพจำนวนมาก ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หรือที่บ้าน เป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง จะส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา หรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิม หรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาได้ อีกทั้ง ยังสามารถลดปัญหาค่าใช้จ่ายของภาครัฐในด้านการศึกษา

 

เนื่องจากเมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมได้อย่างต่อเนื่องหรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษาและมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย

 

“ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สพฐ.โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ร่วมกับโรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด รวม 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา และสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับจัดการเรียนการสอน ที่ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วยและเพียงพอ เช่น แท็บเล็ตและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น เป็นต้น

 

อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุสำนักงาน และ วัสดุสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฯ สำหรับโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ.จำนวน 4 จังหวัด 6 ศูนย์การเรียน เชื่อว่า งบประมาณดังกล่าว จะช่วยให้เด็กที่รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวนไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และ สามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย สามารถลดปัญหาภาคสังคมได้อย่างมาก”

 

ว่าร้อยตรี ธนุ  วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ. กล่าวอีกว่า เนื่องจาก เด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม

 

“สพฐ.ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานดังกล่าว โดย สพฐ.พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเดินหน้าสานต่อนโยบายลงสู่สถานศึกษาและผู้เรียนทั่วประเทศ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายนักเรียนและผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาไทยในภาพรวมทั้งระบบ พร้อมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว