นายก ส.พ.บ.ค.โต้! ปลัด ศธ. จัดสอบคัดเลือก ผอ.สพท.แบบรวมเขตประถม-มัธยม

นายก ส.พ.บ.ค.โต้ปลัด ศธ. จัดสอบคัดเลือก ผอ.สพท.แบบรวมเขตประถม-มัธยม เตือน! ให้ศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขแดง ที่ 193/2556 ก่อนบานปลายเกินเยียวยา

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com โดยตอบโต้กรณีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยืนยันว่าการจัดสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) จะดำเนินการประกาศรับสมัครบัญชีเดียว ไม่แยกเป็นบัญชีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)

เพราะมองว่าการบริหารจัดการของ สพป.และ สพม.มีภาระงานเหมือนกัน และปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาใช้การบริหารจัดการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ปรับปรุง พ.ศ.2560) เหมือนกัน จึงมองว่าการบริหารจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาไม่ควรแยก สพป.และ สพม. ควรจะรับนโยบายจาก ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปบริหารจัดการขับเคลื่อนภายใต้หลักการเดียวกันนั้น

โดยนายรัชชัยย์เผยว่า โดยส่วนตัวแล้วตนให้ความเคารพปลัด ศธ.ท่านนี้มาก เพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และความมุ่งมั่นจริงจังในเรื่องการพัฒนาการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ตนมีความเห็นต่างในเรื่องดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.การบริหารจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษานั้น มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งด้านปรัชญา ด้านวัตถุประสงค์ และด้านวิธีการ ดังนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการนำนโยบายของ ศธ.และ สพฐ.ไปขับเคลื่อนเพื่อให้การจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา

หากให้ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงในการบริหารกิจการมัธยมศึกษา ไปบริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ก็ต้องใช้เวลานานในการปรับตัว เรียนรู้ หาประสบการณ์ และอาจขาดความเชื่อมั่นในการบริหาร เพราะต้องไปบริหารและสั่งการผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า ซึ่งจะไม่เกิดผลดีต่อการจัดการศึกษา

2.หากแนวคิดในเรื่องการบริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ไม่จำเป็นต้องสรรหาผู้มีความรู้และประสบการณ์เฉพาะทาง เป็นที่ยอมรับกันได้ว่าการจัดการศึกษาจะบรรลุวัตถุประสงค์นั้น

ต่อไปนายทหารบกยศพันเอกตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 21 ก็สามารถโอนย้ายไปเป็นนายทหารอากาศยศนาวาอากาศเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกองบิน 7 ได้ ใช่หรือไม่ และสามารถโอนย้ายผู้บังคับการกองบิน 7 ไปเป็นทหารเรือยศนาวาเอก ตำแหน่งผู้บังคับการเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ ได้ ใช่หรือไม่ โดยให้ทหารบกไปสอนแนะนำวิธีการขับเครื่องบินและการรบทางอากาศให้ทหารอากาศ และให้ทหารอากาศไปสอนวิธีขับเรือรบและยุทธวิธีการรบทางน้ำให้กับทหารเรือ

อย่างนี้เป็นที่ยอมรับกันได้ ใช่หรือไม่ เพราะทุกท่านก็เป็น “ทหาร” เหมือนกัน

3.เรื่องการรวมการบริหารการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาโดยไม่แยกระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษานั้น เคยมีมาก่อนและประสบความล้มเหลวจนต้องมีการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติถึง 3 ฉบับ อันนำไปสู่การแยกเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 

4.หากผู้มีอำนาจยืนยันที่จะให้มีการสมัครสอบคัดเลือกเเบบรวมเขต ก็ขอเรียนเสนอแนะให้ศึกษาเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2553 ให้ดีว่า การดำเนินการเช่นนี้ขัดกับเจตนารมณ์กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ หรือไม่

"และเรียนเสนอแนะให้ศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขแดง ที่ 193/2556 ด้วย เพราะเรื่องนี้หากมีผู้มีส่วนได้เสียสักรายไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลมีคำสั่งให้มีการทุเลาการบังคับตามกฎและสั่งให้ประกาศดังกล่าวมีการสิ้นผลบังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากเกินกว่าที่จะเยียวยาในภายหลัง"

นายก ส.พ.บ.ค.ยังเผยอีกว่า การบริหารจัดการเขตพื้นที่การศึกษาในปัจจุบันที่ใช้หลักการคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแยกกันตามประเภทนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังคงอยู่ภายใต้นโยบายจาก ศธ.และ สพฐ.อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เหตุผลเพื่อการสอบรวมเขตฯแต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องการสอบแยกเขตฯนั้น ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับปรุง พ.ศ.2560) เช่นกัน 

อนึ่ง นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีตำแหน่ง ผอ.สพป. และ ผอ.สพม.ที่ว่าง จำนวน 13 ตำแหน่ง

รายละเอียดและปฏิทินการรับสมัคร ดังนี้

ผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการคัดเลือกจะต้องสมัครด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ https://otepc.thaijobjob.com ตั้งแต่วันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 ตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยหลังจากสมัครและอัพโหลดเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครเรียบร้อยแล้ว ต้องชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร จำนวน 50 บาท ผ่านทางระบบแอพพลิเคชั่นได้ทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1-8 กรกฎาคม 2565 ภายในเวลา 23.59 น. หากผู้สมัครยังไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าการสมัครไม่สมบูรณ์

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565, วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. สอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ และเวลา 13.30-15.30 น. สอบภาค ก ความสามารถในการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการนำไปใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลืกภาค ก โดยเรียงลำดับตามเลขประจำตัวสอบ เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ข และ ค วิสัยทัศน์และการพัฒนาเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมวัน เวลาและสถานที่ในการประเมิน ภาค ค 

วันที่ 22-28 สิงหาคม 2565 สอบประเมินภาค ข และ ภาค ค วิสัยทัศและแนวทางการพัฒนาเขตพื้นที่การศึกษา, วันที่ 27-28 สิงหาคม 2565 สอบสัมภาษณ์ และวันที่ 5 กันยานย 2565 ประกาศผลการคัดเลือก 

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการคัดเลือกจะขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี การขึ้นบัญชีจะเรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนมากไปหาน้อย กรณีผู้ได้รับการคัดเลือกได้คะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนนภาค ข มากกว่า อยู่ในลำดับที่ดีกว่า หากคะแนนภาค ข เท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนนภาค ก ในลำดับที่ดีกว่า และหากเท่ากันอีกให้ผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า ตามแนวปฏิบัติจัดลำดับอาวุโสตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด อยู่ในลำดับที่ดีกว่า

ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามเกณฑ์นี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง โดยจะมีการประเมิน 2 ครั้งในทุก 6 เดือน หากผลการประเมินครั้งแรกไม่ผ่านเกณฑ์ จะให้โอกาสปรับปรุงเพื่อพัฒนาตัวเอง หากผ่านการประเมินจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่ง ผอ.สพท.ต่อไป แต่หากไม่ผ่านการประเมินก็จะให้ไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่า ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.สพท.

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)