ร้อง"บิ๊กตู่-ตรีนุช"สอบเงื่อนงำ! สกสค.ร่วมหนุน ธ.ออมสินปล่อยกู้ครูฯ 7 แสน

อดีต ผอ.สกสค.ชัยภูมิ ร้อง ”บิ๊กตู่-ตรีนุช” ตรวจสอบเงื่อนงำ สกสค.ร่วมหนุน ธ.ออมสิน ปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.โครงการใหม่ 7 แสนบาท สวนทางสมัย "รมว.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" สั่ง สกสค.เบรกผุดสินเชื่อ ช.พ.ค.8 อย่างไม่มีกำหนด ห่วงภาพลักษณ์ ”พ่อพิมพ์-แม่พิมพ์” เสื่อม เผยโซเชียลเริ่มวิจารณ์ “เดี๋ยวก็กู้อีก ครูยังไม่ได้กู้คือระเบิด”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัดชัยภูมิ และอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ชัยภูมิ เปิดเผยผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ถึงความคืบหน้ากรณีได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ., นายนพคุณ รัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา

ร้องขอให้ตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.ล่าสุดในโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ที่ได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ปล่อยเงินกู้ครูฯเป็นสองทอดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เริ่มจากธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อมาปล่อยเงินกู้ครูฯอีกทอดในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 4% กว่า ซึ่งเกรงว่าอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้สินครูฯ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าหนี้สินรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือไม่?

โดย นายสานิตย์กล่าวว่า ตนได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ ตอบรับหนังสือร้องขอของตนในนามนายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิที่ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ดังกล่าว โดยขอความยินยอมจากตนในการนำเปิดเผยข้อมูลตามหนังสือร้องขอให้ตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯของ ศธ.ล่าสุดในโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ที่ตนเกรงจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้สินครูฯหรือไม่? ดังกล่าว เพื่อที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารออมสิน กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ เพื่อทำการพิจารณาตรวจสอบตามวัตถุประสงค์ที่ตนได้ร้องขอไป

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามประเด็นที่ตนเสนอให้ธนาคารออมสินนำดอกเบี้ยร้อยละ 2.70 ที่จะให้สินเชื่อกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาลดดอกเบี้ยโดยตรงให้กับครูฯ และให้ครูได้มาปรับโครงสร้างหนี้ในสัญญาเดิม ซึ่งจากปัจจุบันที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ธนาคารออมสินเก็บดอกเบี้ยจากครูฯลูกหนี้เฉลี่ยที่ร้อยละ 4.4 ก็จะเป็นผลดีทั้งครูฯลูกหนี้ที่จะสามารถส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยได้เต็ม 100%

"ขณะที่ธนาคารออมสินก็จะหมดภาระความเสี่ยงหนี้เสียจากครูฯลูกหนี้ ที่ก่อนหน้านี้ได้ชะลอฟ้องดำเนินคดีจำนวนกว่า 25,000 คน ตามที่ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ.ระบุ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นเบื้องต้นในทำนองเดียวกันว่า ถ้าแนวทางนี้ทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นอานิสงส์กับทุกฝ่าย"

อดีตผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ร่วมทำงานให้กับโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของธนาคารออมสิน ที่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อหน่วยงานภาครัฐ สำหรับสินเชื่อโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ครูฯที่เป็นสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ได้กู้ 700,000 บาท ผ่อน 20 ปี เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้สินเชื่อโครงการสวัสดิการสมาชิก ช.พ.ค.เดิม

ซึ่งตามข่าวระบุว่า สกสค.ไปร่วมเป็นหน่วยงานบริการให้ติดต่อขอรับ "แบบคำขอกู้และรับรองสิทธิ โครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา" ของธนาคารออมสิน ทั้งที่สำนักงาน สกสค.จังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการจัดเตรียมเอกสารหนังสือยินยอมให้หักเงินสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค. และอาจรวมถึงกรณีผู้กู้ถึงแก่กรรม สำนักงานจะต้องส่งเงินสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค.ตามจำนวนเงินที่ผู้กู้มีหนี้ค้างชำระตามจำนวนเงินที่ได้รับแจ้งจากธนาคาร แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในหนังสือยินยอมให้หักสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค.

อดีตผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ กล่าวอีกว่า จากการสอบถามคนในแวดวง สกสค.หลายคนบอกตรงกันว่า ไม่ทราบเรื่องที่ สกสค.ไปทำงานให้กับโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของธนาคารออมสินดังกล่าว ซึ่งหากเป็นจริงการทำงานให้ในลักษณะนี้ สกสค.น่าจะควรได้รับสิ่งตอบแทนจากธนาคารออมสิน หรือไม่? มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่? และโครงการเงินกู้ขนาดใหญ่เช่นนี้ ผู้บริหาร สกสค.รับทราบหรือไม่? นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. รับรู้หรือไม่? ที่สำคัญ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และประธานคณะกรรมการ สกสค. รู้เห็นด้วยหรือไม่?

แตกต่างจากสมัยของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2563 ได้มีการสั่ง สกสค.เบรกข้อเสนอจัดโครงการปล่อยเงินกู้สวัสดิการสมาชิก ช.พ.ค.โครงการที่ 8 อย่างไม่มีกำหนดมาแล้ว เพราะนโยบาย ศธ.ให้ระมัดระวังเรื่องภาวะหนี้สินของครูฯ เนื่องจากครูฯผู้กู้ส่วนใหญ่มีเงินเดือนเหลือติดบัญชีไม่เพียงพอสำหรับการกู้ยืมในโครงการรอบใหม่อยู่แล้วด้วย

ประกอบกับปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา และที่สำคัญการร่วมมือของหน่วยงานใน ศธ. โดยเฉพาะ สกสค.กับธนาคารให้มาปล่อยเงินกู้ครูฯบ่อยครั้ง ถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์คนในวงวิชาชีพครู ผู้เป็นแบบอย่างแก่เด็กและเยาวชน

โดยขณะนี้ได้มีคนในสังคมจำนวนมากวิจารณ์ครูฯในโลกโซเชียลไปในทางเสียหาย อาทิ “เดี๋ยวก็กู้อีก ครูยังไม่ได้กู้คือระเบิด แต่แม่ค้านี่สิ สงสาร 555” , “เงินเดือนก็มีแดก วันหยุดก็เยอะ ยังไม่พอกินอีก กู้บ้าน กู้รถ พอส่งสักระยะยกหนี้ให้ เงินคนทั้งประเทศ ทีคนธรรมดากู้ยากชิหาย” , “แบงค์ฉลาดสุดล่ะ หาที่ปล่อยเงินกู้ที่มั่นคง หนี้ไม่สูญ ชัวร์ ครูหนี้เพิ่มใหม่ วนไป สุดท้ายอย่ามาเรียกร้องให้รัฐบาลเอาเงินภาษีไปปลดหนี้ให้ครู ก็พอ” , “ถ้ายังมีวินัยการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือย หลายคนไม่ได้กู้เพื่อลดปัญหาหนี้ แต่กู้เพื่อใช้เงินเพิ่มขึ้น” , “หนี้เก่าเป็นแสนล้าน ออมสินจ่ายด้วยนะ ขยันก่อหนี้จริงๆ”

นายสานิตย์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ตนในนามนายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ จะทำหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี, ดร.วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล ศธ., น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ., นายนพคุณ ประธาน กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การเข้าไปร่วมมือทำงานของ สกสค.ให้กับโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของธนาคารออมสินดังกล่าว มีการทำบันทึกความตกลงกันอย่างถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายหรือไม่?

มีเงื่อนงำอะไรหรือไม่? มีสิ่งตอบแทนอะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่? และการร่วมมือสนับสนุนของ สกสค.ให้ครูฯได้กู้เงินในโครงการใหม่ดังกล่าว เป็นธรรมาภิบาลหรือไม่ เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของวงวิชาชีพครูโดยรวมเสื่อมเสียลงหรือไม่?

“ถ้าได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า การดำเนินการของ สกสค.ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อครูและบุคลากรทางการศึกษาในด้านต่างๆ จริง ก็ขอได้โปรดดำเนินการเพื่อการสั่งการให้ สกสค.ยุติบทบาทการเข้าไปร่วมสนับสนุนในโครงการปล่อยเงินกู้แก่สมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงยุติโครงการสวัสดิการสร้างหนี้สินใหม่ให้กับสมาชิกครูฯในทุกกรณีด้วย” อดีตผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)