บทความพิเศษ อนาคตของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย

บทความพิเศษ

อนาคตของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

ถึงวันนี้เราต้องยอมรับกันแล้วว่า วิกฤติอุดมศึกษานั้นเกิดขึ้นแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมีนักศึกษาลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสามและมีความจำเป็นต้องบีบอาจารย์ให้ลาออกเนื่องจากขาดทุนย่อยยับ หลายแห่งอาจารย์ลาออกไปมากกว่าครึ่งหนึ่งและตั้งเป้าหมายให้อาจารย์เหลือเพียงแค่หนึ่งในสาม

มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งขายที่ดินสร้างคอนโดมิเนียมขาย มหาวิทยาลัยราชภัฎหลายแห่ง ก็ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้พนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ เนื่องจากไม่มีนักศึกษาให้สอน มหาวิทยาลัยของรัฐในบางสาขารับนักศึกษาได้เพียงร้อยละ 20 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้

มหาวิทยาลัยเปิดของรัฐ ไม่ต่อสัญญาจ้างอาจารย์เพราะไม่มีนักศึกษาเพียงพอ เริ่มมีปัญหาทางการเงิน มหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง อาจารย์เริ่มแย่งวิชาสอนกันเพื่อให้ตัวเองมีภาระงานครบ และหลายแห่ง ดิ้นรนด้วยการไปหานักศึกษาจีนเข้ามาเรียน ซึ่งเป็นนักศึกษาจีนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันสูงมาก หลายคนมาเรียนเพื่อจะได้เข้าเมืองได้ถูกต้อง และทำมาค้าขายได้ 

 

คาดได้เลยว่าสถานการณ์น่าจะแย่ลงไปเรื่อยๆ และคาดได้ว่าภายในสี่หรือห้าปีนี้ สถาบันอุดมศึกษาของไทยที่มีมากถึงสามร้อยแห่ง อาจจะได้ไปต่อเป็นส่วนน้อย (หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่ามีเยอะขนาดนั้น แต่ได้สอบถามพนักงานขายซอฟท์แวร์ให้ห้องสมุดแล้วยืนยันเช่นนั้น 

มีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน สถาบันราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเกษตร วิทยาลัยพลศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แทบทุกคนหันมาสอนอุดมศึกษากันเพิ่มขึ้นแทนอาชีวะศึกษา เพราะค่านิยมกระดาษใบปริญญา)

 

ในสมัยหนึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการกันมาก หาคนมีคุณสมบัติครบถ้วนได้ยาก และเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีนักศึกษาสมัครมาก มหาวิทยาลัยเปิดกันได้ง่าย รายได้ดีพอสมควร

แต่เนื่องจากมีความต้องการสูงเลยรับคนเข้ามาเป็นอาจารย์ได้ง่ายขึ้น

แต่ในปัจจุบันการที่ Over Supply และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้เราเกิดประชากรถดถอย มีเด็กเกิดน้อยมากและมีคนตายมากกว่าคนเกิด นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ขณะนี้การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละปีเหลือที่นั่งว่างๆ หานักศึกษามาเรียนไม่ได้ต่อปีเกือบเจ็ดหมื่นที่นั่ง

ดังนั้นการแข่งขันจะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีอาจารย์ล้นเกินจำนวนนักศึกษาในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยจำนวนมากจำเป็นต้องควบรวม (Merger and Acquisition) เพื่อความอยู่รอดซึ่งคาดว่าน่าจะอีกไม่กี่ปี มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งจะต้องปิดตัวลงไปเพราะขาดทุนหนักมาก

 

กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ปัจจุบันเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรที่จะต้องศึกษาการฉายภาพประชากร (Demographic Projection) ของประเทศไทยและพยากรณ์ต่อไปว่าจะส่งผลอย่างไรต่อจำนวนนักเรียนที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในประเทศไทย สัดส่วนของเด็กในวัยศึกษานั้นน่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ และอาจจะต้องคำนวณภาระงานสอนว่าสมดุลกันหรือไม่กับจำนวนนักศึกษา มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้ได้คุณภาพตรงกับความต้องการของนายจ้าง ปัญหา คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่รับมาเข้าไว้มากมายและมีจำนวนล้นเกินกว่าจำนวนนักศึกษาและภาระงานสอนจะทำเช่นไร

 

สถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน ขณะนี้เริ่มมีอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบแล้ว

ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาธรรมาภิบาลอุดมศึกษาซึ่งมีการใช้อำนาจพวกพ้อง และฝ่ายบริหารเป็นกลุ่มพวกเดียวกับสภามหาวิทยาลัย ทำให้เลือกกันวนเวียนเกาหลังกันไปมา และฝ่ายบริหารบางส่วนถือโอกาสในการกลั่นแกล้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นพลเมืองชั้นสองในสถาบันอุดมศึกษา และเริ่มมีคดีฟ้องร้องกันในศาลปกครองมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาคือคดีล่าช้ามาก และอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นมีสิทธิ์ในการต่อสู้ที่แย่กว่ากระทั่งกรรมกร เนื่องจากไปฟ้องร้องที่ศาลแรงงานก็ยังไม่ได้ ทุก พ.ร.บ. ที่นำมา

มหาวิทยาลัยออกนอกระบบต่างไม่ยอมให้ฟ้องร้องศาลแรงงาน ทำให้เกิดการรังแกกัน อีกส่วนหนึ่งและน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย คือ การที่ไม่มีนักศึกษา รายได้ลดลง จนไม่สามารถจะจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้อีกต่อไป

อันที่จริงอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถสูงเป็นส่วนใหญ่ น่าจะต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ไม่ยากนัก หลักสูตรบางหลักสูตรสอนเนื้อหาวิชาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน บางสาขาวิชาจบมาปีละหลายพัน แต่นายจ้างหาคนที่มีคุณภาพพอจะทำงานไม่ได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ประเทศไทยขาดแคลนโปรแกรมเมอร์อย่างรุนแรง มีคนสมัครมาก แต่คุณภาพนั้นมีปัญหา ทำงานไม่ได้จริง ไม่ตรงตามสิ่งที่ภาคเอกชนและภาคธุรกิจใช้กันในปัจจุบัน ประกอบกับนักศึกษาก็ไม่อยากเรียนอะไรที่ยาก ชอบเรียนอะไรง่ายๆ สบายๆ ซึ่งเป็นการทำลายตนเองในระยะยาวอยู่ดี

น่าเห็นใจอาจารย์ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก โลกของดิจิทัลและวิทยาการข้อมูลกำลังรุกล้ำเข้ามาอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นฐานทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากตกยุค อาจารย์มหาวิทยาลัยคงไม่สามารถสอนเรื่องเดิมๆ ที่ตนเองเคยเรียนมาเมื่อ 20-30 ปีก่อนได้อีกต่อไป

 

ที่น่าสังเกต คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวได้ กลับเป็นพวกที่ลาออกไปทำงานอื่น เช่น ทำงานภาคเอกชน ด้วยรายได้สูงลิบหรือออกไปทำธุรกิจส่วนตัว พวกนี้ไม่น่าห่วงแต่น่าเสียดายโอกาสสำหรับบางคนที่มีความจำเป็นด้านการเงินมีความสามารถสูงและมีความเป็นครูที่ดี โครงการ Talent mobility ที่เปิดโอกาสให้อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยในภาครัฐไปทำงานวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมให้กับภาคเอกชนนั้น เป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมยิ่งน่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ไปได้บ้างพอสมควร

 

ปัญหาหลัก คือ ท้ายที่สุดจำนวนมหาวิทยาลัยก็ต้องลดลงไป และจำนวนอาจารย์ที่ต้องออกจากงานคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยไม่มีนักศึกษาให้สอนอีกต่อไป

บางภาควิชา บางคณะ จำเป็นต้องถูกยุบ เนื่องจากไม่มีเงินพอ และไม่มีนักศึกษา อันที่จริงก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เป็นเช่นนั้น สาขาวิชาบางวิชาที่ไม่มีนักเรียนสนใจจะเรียนไม่สร้างรายได้ก็มีความจำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจริง ๆ

ในขณะที่บางสาขาไม่มีความต้องการและความจำเป็นมากก็ควรต้องรับผลแห่งกรรมกันไป โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ของไทยที่มาผิดทางโดยตลอด เราเร่งกระบวนการสร้างคนแบบเร่งด่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงชาติเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาในเวลานี้

อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด บางคนทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ไม่มีนักศึกษาให้สอน ก็ดิ้นรนจะต่ออายุราชการให้ตัวเองต่อ บางคนที่ไม่มีทางไป ก็พยายามดิ้นรนหานักศึกษาเข้ามาเรียนให้มากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เหลืออยู่ต้องปรับตัว ทางเลือกหนึ่งคือให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานบริการวิชาการให้กับรัฐและเอกชน เพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยให้มากขึ้น

แต่ก็พบปัญหาว่า หลายแห่งให้เอกชนเป็นคนทำ แต่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยไปประมูลงานในภาครัฐและกินหัวคิวทั้งอาจารย์หัวหน้าโครงการและมหาวิทยาลัยแห่งนั้น เนื่องจากหากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เข้าไปประมูลงานจะถือว่าเป็นสัญญาระหว่างหน่วยราชการและใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้

 

ประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้ว ต้องการนวัตกรและนักวิจัยอีกจำนวนมาก ผมเคยสนทนากับผู้บริหารบริษัทเอกชนจำนวนมาก ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยผลิตงานวิจัยขึ้นหิ้ง ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติกันมากมาย แต่เอามาใช้งานจริงหรือนำมาประยุกต์ใช้ให้ขายได้จริงในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) ได้น้อยมาก

เรื่องเหล่านี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะอยู่ต่อไปรอด คงต้องปรับตัวให้สามารถสร้างผลงานที่นำไปใช้ได้จริง ขายได้จริง เป็นประโยชน์ได้จริงมากขึ้นเช่นกัน แล้วรายได้จากงานบริการวิชาการและงานที่ปรึกษาจะเข้ามาหาตัวท่านเองและหน่วยงานของท่านอย่างไม่ขาดสายจนทำงานไม่ทัน และไม่มีแรงจะทำ

 

ทางเลือกอีกทาง ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจจะต้องปรับตัว คือ ต้องเน้นไปที่การศึกษาต่อเนื่องและการฝึกอบรมให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้พัฒนาศักยภาพ ทักษะในการทำงาน ให้ได้ดีขึ้น

ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ขายดีในการเป็นวิทยากรมีรายได้มาก ส่วนหนึ่งมาจากทักษะส่วนตัวในการพูดเก่ง มีความสามารถในการ Entertain นักเรียน

แต่ภาคเอกชนคงอยากได้วิทยากรเช่นนั้นลดลงไป ภาคเอกชนน่าจะอยากได้อาจารย์หรือวิทยากรที่วิเคราะห์ปัญหาในการทำงานของธุรกิจได้ทะลุ และนำโจทย์ปัญหานั้นมาออกแบบหลักสูตรในการพัฒนาคน ให้มีทักษะความรู้ความสามารถที่จะทำให้ปัญหาในการทำงาน การทำธุรกิจ ของหน่วยงานนั้น ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ถึงจะคุ้มค่าเงินลงทุน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะไปเน้นเรื่องการเป็นวิทยากร การศึกษาต่อเนื่อง ก็คงต้องเก่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ในมหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เลือกที่จะทำงานเพราะใจรัก กับอีกพวกที่ไม่มีทางไป จริง ๆ แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยคงต้องวางแผนชีวิตตนเองให้ดี ว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า ต่อให้ภาระงานสอนครบ ทำงานวิจัยตีพิมพ์ได้ครบ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่า มหาวิทยาลัยของท่านจะมีเงินมาจ้างท่านต่อไป ในเมื่อไม่มีนักศึกษาและขาดทุน มหาวิทยาลัยเองก็ใช่ว่าจะไปรอดได้ง่ายๆ

อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เป็นพนักงานควรวางแผนทางการเงินให้ดี อย่าได้ประมาท เนื่องจากไม่มีบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบราชการ ที่จะดูแลพนักงานมหาวิทยาลัยหลังเกษียณ

ทุกวันนี้อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในงาน (Job security) ต่ำมาก ความไม่ประมาทจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรพัฒนาตนเองให้มีความสามารถพิเศษหลายๆ ด้าน อาจจะมีงานหรือธุรกิจอื่นที่ทำนอกเวลาราชการได้ ควรจะต้องออมและลงทุนให้เป็น เพราะสถานการณ์จะเป็นนายของทุกคนในอีกไม่นาน

 

บทความนี้ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นบทความเชิงวิเคราะห์ที่ อ.วิชัย จิตมาลีรัตน์ อดีตอาจารย์อาชีวะศึกษายกมาให้อ่าน และตบท้ายด้วยว่า

"ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งและสิ่งที่ต้องการเสริม คือ....แทบทุกองค์กรการศึกษาต่างมุ่งที่จะบริหารจัดการการให้เป็นระดับอุดมศึกษา อาจจะด้วยความคาดหวังว่า ผู้บริหาร ครูอาจารย์จะได้ทำผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ เป็นผศ. รศ.และศ. แบบที่อาชีวะเคยคิดกันไว้ตั้งแต่สมัยจัดตั้งสถาบันในยุคเริ่มต้น

ปัญหา คือ ทุกวันนี้มีสถาบันเปิดสอนป.ตรีแล้ว ครูที่เคยสอนปวช. ปวส.และมาสอนป.ตรี เป็นข้าราชการครูที่ต้องเติบโตด้วยระบบวิทยะฐานะ แล้วจะถือว่าเป็น “ อาจารย์ “ ตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะสอนระดับอุดมศึกษาแล้ว ถ้าทำผลงานวิชาการแล้วจะเลื่อนตำแหน่งด้วยระบบวิทยะฐานะหรือตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผศ. รศ.และ ศ.

กรณีอาชีวะผมเคยย้ำยืนยันมาตลอดว่า ถ้าจัดการ ปวช. ปวส. ทุกสาขาวิชาให้มีคุณภาพ อาชีวะไม่ควรเปิดสอนป.ตรี แต่ทุกสถาบันอุดมศึกษาจะมีตัวป้อนเป็นเด็กอาชีวะที่มีคุณภาพแทน “ วิธีคิด “ ที่อาจนำพาการศึกษาไทยดิ่งเหว เพราะขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์

การเป็นอุดมศึกษาอย่างเลอะเทอะ คือ การพัฒนาการศึกษาไทยจริงหรือ กรณีอาชีวะผมเคยย้ำยืนยันมาตลอดว่าถ้าจัดการปวช. ปวส. ทุกสาขาวิชาให้มีคุณภาพ อาชีวะไม่ควรเปิดสอนป.ตรี แต่ทุกสถาบันอุดมศึกษาจะมีตัวป้อนเป็นเด็กอาชีวะที่มีคุณภาพแทน

“ วิธีคิด “ ที่อาจนำพาการศึกษาไทยดิ่งเหว เพราะขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์

 วิชัย จิตมาลีรัตน์  พุธ 14 กันยายน 2565