ส่อง 7 เทรนด์สุขภาพคนไทยปี 2566

บทความพิเศษ โดย คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare สำนักข่าว Edunewssiam 

 

 

สุขภาพของเราในปี 2565 เป็นอย่างไรบ้าง?


ในห้วงปีที่ผ่านมา อยากชวนทุกคนย้อนกลับไปมองดูเส้นทางสุขภาพของตัวเองว่า เราดูแลตัวเองได้ดี มากน้อยขนาดไหน มีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างไร เจ็บป่วยไปกี่ครั้ง อะไรคือสาเหตุของการเจ็บป่วยบ้าง
 
แล้วในปีถัดไปจากนี้ เราตั้งเป้าสุขภาพ และคุณภาพชีวิตตัวเองไว้อย่างไร?

ในมุมมองด้านสุขภาพของหน่วยงานขนาดใหญ่ระดับประเทศอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชวนจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยหรือ ‘ThaiHealth Watch 2023 : สังคมปรับ ชีวิตเปลี่ยน ซึ่ง สสส. ได้รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล โดยบูรณาการร่วมงานกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และแนวโน้มสุขภาพต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทย

 

ชีวิตที่ดีเท่ากับอะไร? - ส่อง 7 เทรนด์สุขภาพคนไทยปี 2566 

 

เปิดประเด็นด้วยคำถามชวนคิด ชีวิตที่ดี เท่ากับอะไร?” โดยนางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. โจทย์ที่หน่วยงานอย่าง สสส. ได้ตั้งคำถามกับการทำงานรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาวะในปี 2565 เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของคนไทยในปี 2566 ได้อย่างครอบคลุม 


ผู้บริหาร สสส. ชวนอัปเดตเทรนด์สุขภาพคนไทยในปี
2566 ทั้ง 7 ประเด็น พร้อมติดอาวุธ รับมือเทรนด์สุขภาพใหม่ที่กำลังมา ซึ่งบางประเด็นเป็นการทำงานที่ต่อเนื่องในปี 2565 แต่มีความคืบหน้าที่หน้าจับตามอง เพื่อทำให้ชีวิตคนไทยด้านสุขภาวะในปีหน้าดีขึ้น

 

 

ลองโควิด (Long Covid) เมื่อไวรัสตัวร้ายจากไปแต่ทิ้งบางสิ่งไว้…

ประเด็นแรกที่ นางเบญจมาภรณ์ พูดถึง คือลองโควิดซึ่งเป็นโจทย์ที่ทั่วโลกกำลังหาทางรับมือผู้ป่วยกว่า 50% ที่เกิดภาวะลองโควิด ที่เกิดผลกระทบทางสุขภาพกับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งอาการทางระบบประสาท อาการทางร่างกาย และอาการทางจิตใจ และ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะลองโควิด ซึ่งประเทศไทยพบการสูญเสียประชากรจากโรค NCDs 1,000 คน/วัน นอกจากนี้ผลกระทบของไวรัสตัวร้ายที่เกิดขึ้นทางจิตใจ คือโรคซึมเศร้าพบประชากรกว่า 35,000 คนเข้ารับการรักษาจากการประเมินผ่านแอปพลิเคชัน DMIND เสี่ยงซึมเศร้าถึง 89.3% 

 

ภาวะหมดไฟลุกลาม 

การทำงานแบบ Hybrid Working พบ 76% ของพนักงานบริษัทมีความเหงาที่ส่งผลต่อจิตใจ เกิดเป็นกระแสการลาออกครั้งใหญ่ในระบบอุตสาหกรรม เนื่องจากคนทำงานติดใจการทำงานแบบทางไกลจึงไม่อยากกลับไปที่ออฟฟิศอีก เกิดการทบทวนลำดับความสำคัญและคุณค่าของการทำงาน ความสัมพันธ์ของคนทำงานเริ่มห่างขึ้น จนนำมาสู่การเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน” (Burnout Syndrome) ความท้าทายคือ จะรับมืออย่างไรให้มีความสุขทั้งองค์กรและคนทำงาน 

 


 

Climate change เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์

ภาวะฝุ่น PM2.5 ควันพิษที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ และโซนสังเวยชีวิต หรือ sacrifice zone ราวๆ 99% ของคนบนโลจะต้องสูดควันจากอากาศที่มีมลพิษ ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น อากาศร้อนขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น สมองบวม ปัญหาไต ปอดทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ผิวหนังซีด สสส.จึงสานพลังภาคีเครื่อข่าย เตรียมร่างกาย เตรียมความรู้ เตรียมจิตใจ นำร่องปทุมวันโมเดลต้นแบบเมืองมลพิษต่ำ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด 

 

 

 

ผู้สูงอายุ สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์  

ปี 2566 จะมีผู้สูงอายุในประเทศไทยราวๆ 20.6% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนับเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ และ อีก 5 ปี จะมีผู้สูงอายุติดเตียงกว่า 2 แสนคน ติดบ้านอีกกว่า 3.5 แสนคน ค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุ 1 คน ต้องมีเงินราวๆ 3 ล้านบาท แต่ประเทศไทยพบว่าวัยเกษียณไม่มีความพร้อมด้านการเงิน สสส.ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งเสริมผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุหรือ caregiver ในระดับชุมชน นอกจากนี้ยังเกิดโครงการเกษียณคลาส ให้ผู้สูงอายุสื่อสารในโลกออนไลน์มากขึ้น และ ธนาคารเวลาปันด้วยใจ ให้ด้วยรัก โดยผสานการทำงานกับเครือข่าย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ติดบ้านไปร่วมทำกิจกรรมนอกบ้านได้ และเชื่อมร้อยเครือข่ายสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน 

 

 

เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจในวันที่ไทยปลดล็อกกัญชา” 

เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาวะ เมื่อประเทศไทยปลดล็อกกัญชาแล้ว แต่ความรู้ ความเข้าใจที่เหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเปราะบาง เพราะหากใช้เกินขนาดจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เช่น มีการกดประสาทการเกร็งของร่างกาย หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน สูญเสียการทรงตัว อาจล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ ฯลฯ แม้กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจแต่เราจำเป็นอย่างมากที่ต้อง ให้ความรู้ ความเข้าใจในกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

 

 

บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นต้นเหตุจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 

กลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและเยาวชน ตกเป็นเหยื่อคนสำคัญของพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า จากการเก็บข้อมูลระบุว่า มีเด็กและยาวชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ย 3 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างเป็นความเข้าใจผิดในการรับข้อมูลดังกล่าว ลองนึกดูว่าอนาคตของเด็กๆ จะอันตรายแค่ไหน เมื่อได้รับสารนิโคตินเข้าร่างกาย และผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเลยถึง 6.8 เท่า สสส.ได้สื่อสารผ่านแคมเปญโฆษณา เช่นเรื่องจริงที่หนูอยากจะบอกเป็นการทดลองนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งส่งผลอันตรายต่อสมอง เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงรูปธรรมมากขึ้น

 

 

มิติใหม่แห่งการสร้างเสริมสุขภาพคนไทยในยุคดิจิทัล

พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากขึ้น โดยเฉพาะโลกในยุคโควิด-19 ที่ทั่วโลกปรับระบบการสื่อสารถึงกันและกันในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2565 ระบุกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยมของคนไทย 86.16% จองคิว ปรึกษาแพทย์ เช่น โรงพยาบาลก็มีแอปพลิเคชันที่เข้าถึงง่าย มีการติดต่อสื่อสารผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ในปีถัดไปเราจะยกระดับสุขภาพด้วย Digital Health Technology โดย สสส. ได้ใช้วิธีการ Plant Sustainable Health well-being โดยการสร้างความรู้โดยแบบ หว่าน (ความรอบรู้ทางสุขภาวะ) ปลูก (สร้างสุขภาวะที่ดีด้วยการลงมือทำจริง) และแตกหน่อ (ระบบสุขภาวะที่ยั่งยืนเพื่ออนาคต) เพื่อให้เรื่องสุขภาวะสามารถเข้าถึงกับกลุ่มเป้าหมาย และมีทางเลือกมากขึ้น สสส.ได้ทำแคมเปญโดยใช้ชื่อ Meverse จักรวาลของคนสุขภาพดี โดยใช้โอกาสของเมตาเวิร์ส เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังจับมือกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน จัดทำแพลตฟอร์ม Empower living เสริมพลังสร้างสุขภาวะในกลุ่มเปราะบาง และยังพัฒนาแอปพลิเคชัน Persona Health  ร่วมกับ สปสช. เพื่อสื่อสารข้อมูลสุขภาพได้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น 

 

ทั้งหมดนี้ สสส.ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องร่วมพลังกับภาคีเครื่อข่ายทั่วประเทศในประเด็นต่างๆ และร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทย เพราะชีวิตที่ดีไม่ใช่การมีชีวิตที่ยืนยาว แต่คือการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

 

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Persona Health ได้แล้ววันนี้ที่

App Store : https://apple.co/3E0npMz

Google Play Store : https://bit.ly/3y0J9Ed

 

ศึกษาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/