เด็กนักเรียน ม.5 ถามนักวิจัย “เรียน วิทยาศาสตร์แล้วจะมีอนาคตอย่างไร?”

 

 

เมื่อเด็กนักเรียน ม.5 ถามนักวิจัย “เรียน วิทยาศาสตร์แล้วจะมีอนาคตอย่างไร?”

 

 ...การรอให้เด็กปริญญาตรีมาเรียนสายวิทยาศาสตร์แล้ว ค้นพบว่า มันไม่ใช่ทางของเขา มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก... 

ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล

 

เพราะวิทยาศาสตร์มันอยู่รอบตัว อยากให้เด็ก ๆ ลดกำแพงที่ตั้งธงว่า "วิทย์โคตรยาก" ลงมามองให้รู้ดูให้เห็น แล้วจะรู้ว่า วิทยาศาสตร์ มัน คือ ฐานความรู้ของสรรพสิ่ง มีบทบาทสำคัญต่อโลกปัจจุบันและชีวิตของมนุษย์ทุกคน อยู่ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต การงานอาชีพเสมอ

  

edunewssiam เปิดไปเจอคำถามที่เกิดขึ้นจริงของเด็กนักเรียน ม.5 ได้โทรศัพท์ขอคำปรึกษาจาก ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ถามว่า  "เรียนวิทยาศาสตร์แล้วจะมีอนาคตอย่างไร? " ซึ่งได้สะท้อนมุมมองและแง่คิดที่น่าสนใจทั้งในมุมความสงสัยใคร่รู้ของเด็ก และคำตอบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลที่เป็นประสบการณ์จากนักวิจัยอาชีพที่ทำงาน และคลุกคลีอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยมายาวนาน 

 

เรามาติดเรื่องราวการการสนทนาที่ถ่ายทอด โดย ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล นักวิจัยฯ ได้จากด้านล่างนี้

 

เด็กนักเรียน ม.5 ถามนักวิจัย "เรียนวิทยาศาสตร์แล้วจะมีอนาคตอย่างไร?"

 

เด็กนักเรียนชั้น ม. 5 โทรมาขอปรึกษาเรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์และอนาคตในประเทศไทย ซึ่งได้ใช้เวลาช่วงบ่ายนี้สองชั่วโมงกับอีกสิบนาที ถ้าไม่ตัดบทคงไม่ได้หยุดแน่นอน

 

คนถามเริ่มต้นถามว่า "เขาจะมีอนาคตอย่างไรถ้าเรียนสายวิทยาศาสตร์"

เราถามกลับว่า "เขาอยากมีไลฟ์สไตล์แบบใดในอนาคตข้างหน้า ถ้าตอบได้แล้ว จึงค่อยมาดูว่า เราจะเอาวิทยาศาสตร์มาพาตัวเราไปสู่ไลฟ์สไตล์นั้น ๆ ได้หรือไม่และได้อย่างไร"

 

คนถาม: งานวิจัยมีข้อผิดพลาดและล้มเหลวไหม?

คนตอบ: มีเยอะมาก เช่นเดียวกับทุกงานที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว

 

คนถาม: ทำไมเห็นว่า มีแต่งานวิจัยที่ทำสำเร็จทุกงาน

คนตอบ: นั่นก็เพราะ ทุกคนก็ย่อมอยากจะเผยแพร่แต่สิ่งที่เขาทำสำเร็จ เพราะสังคมต้องการเห็นความสำเร็จ และเราก็ยังไม่มีการยอมรับการเผยแพร่สิ่งที่ล้มเหลว ..... หากสังคมยอมรับว่า "ความล้มเหลว" คือ เรื่องธรรมดาในวงการวิจัยหรือทุกสายอาชีพ สังคมก็จะยอมรับและมีกลไกให้มีการเผยแพร่สิ่งที่ล้มเหลวและข้อผิดพลาดกันได้ เมื่อนั้นเราก็คงจะได้เห็นการตีพิมพ์ความล้มเหลวกันได้บ้าง และเผลอ ๆ มันอาจจะมากกว่า ผลงานที่ทำสำเร็จ

 

คนถาม: หนูก็นึกว่าไม่มี

คนตอบ: มีตลอดเวลา แต่ความล้มเหลวในวงการวิทยาศาสตร์มันมีความพิเศษ และสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ดีที่มีจรรยาบรรณ ข้อผิดพลาดใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เขาจะยอมรับมันได้ง่ายและไม่คิดจะปกปิดมัน เพราะข้อผิดพลาดก็คือ Fact เช่นกัน และเราจะเปิดเผยเพื่อไม่ให้คนอื่นต้องล้มเหลวในเรื่องเดิม

 

คนถาม: อนาคตของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?

คนตอบ: กว่าหนูจะเรียนจบ เราจะไม่ตั้งคำถามแบบนี้ แต่เราจะต้องถามว่า นักวิทยาศาสตร์ไทยจะมีอนาคตอย่างไรในเวทีโลก เราคงไม่อาจจะมองแค่ประเทศไทยแล้ว เพราะวิทยาศาสตร์อยู่เหนือขอบเขตของความเป็นชาติ วิทยาศาสตร์มันเป็นอะไรที่มาก กว่านั้น จึงอยากให้ถามตัวเองว่า เราต้องการเป็นนักวิทยาศาสตร์จริง ๆ ใช่ไหม ถ้าใช่แล้ว ก็อย่ามองแต่ประเทศไทย โลกในวันข้างหน้ากว้างกว่านี้มาก ถ้าเราชัดแล้ว ก็ตั้งใจและมุ่งมั่น

 

คนถาม: หนูไม่เคยรู้เลยว่าการเรียนวิทยาศาสตร์มันจะเปิดกว้างได้มากขนาดนี้

คนตอบ: นั่นเป็นเพราะในสังคมบ้านเรา ยังไม่มีกระบวนการสื่อสารให้เด็ก ๆ เห็นถึงอนาคตของนักวิทยาศาสตร์ได้มากนัก เด็ก ๆ ได้เห็นแต่รายการประกวดร้องเพลง และเห็นถึงความเป็น YouTuber และการท่องเที่ยว นั่นคือ ภาพอาชีพที่เด็ก ๆ จะได้เห็นผ่านสื่อหลักมากกว่า จะมีเด็กกี่คนที่ได้มาสัมภาษณ์ พูดคุยกับคนที่มีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์

 

คนถาม: ไม่มีเลยค่ะ

คนตอบ: ใช่ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่หนูจะได้รับรู้ว่า หนูแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอาชีพนี้ แต่ตอนนี้ได้รู้ขึ้นมาบ้างแล้ว ถึงแม้จะยังน้อยอยู่ แต่หนูได้เริ่มต้นแล้วนะ และถ้าตั้งใจจริง ก็จะได้รู้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่สนใจวิชาวิทยาศาสตร์ แต่มองไม่เห็นอนาคตว่า เขาจะทำอะไรได้บ้าง

 

มันอาจจะมีแนะแนว มีค่าย มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์มากมาย แต่มันยังไม่พอ กลไกในการที่จะทำให้เด็กได้รับรู้ว่าวิทยาศาสตร์มันคืออะไร ในชีวิตความเป็นจริง มันยังน้อยเกินไป

 

การเจาะกลุ่มเพียงแค่เด็กเรียนเก่งเรียนดีนั้นไม่น่าจะพอ เพราะในความเป็นจริง ยังมีเด็กที่เก่งและมี Passion อีกมากที่ไม่ได้รู้ว่ามีโอกาสการเข้าถึงข้อมูลทางสายอาชีพวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง และนั่นคือ สาเหตุที่ทำให้เขาต้องเดินออกจากสายอาชีพนี้ไป

 

การรอให้เด็กปริญญาตรีมาเรียนสายวิทยาศาสตร์แล้วค้นพบว่า มันไม่ใช่ทางของเขา มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

 

ก็คงต้องช่วยกันคิดใหม่ว่า จะต้องทำอย่างไรให้เด็กที่สนใจ (เอาแค่เริ่มสนใจก็ได้) ได้เกิดความสนใจใคร่รู้ในสายอาชีพนี้ และ อยากจะทุ่มเทเวลาที่จะเรียนรู้กับมัน หรือยอมเอาเวลาเล่นเกมมาคุยกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ไม่เคยพบกันมาก่อน 

 

..... อย่างน้อยก็ได้ก้าวมาชิมลางจากประสบการณ์จริงของนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยแห่งนี้ได้บ้าง !!!!!

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล

 

( โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว )

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage