พลิกกลยุทธ์สู้การปิดมหาวิทยาลัย สู่โลกอุดมศึกษา ศตวรรษที่ 21

 

พลิกกลยุทธ์สู้การปิดมหาวิทยาลัย   

สู่โลกอุดมศึกษา ศตวรรษที่ 21

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร/อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์/ผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก ได้เขียนบทความ เรื่อง พ.ศ.2570 : ปิดมหาวิทยาลัยไทยกี่แห่ง? โดยเสนอข้อมูลการยุบมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยยังไม่ได้เฉลยความคิดตนเองว่า จะมีมหาวิทยาลัยของรัฐไทยถูกยุบกี่แห่ง / วันที่ 13 เมษายน 2566 เสนอ บทความ : คลื่นสึนามิอุดมศึกษาไทย ลูกที่สอง : ใครรอด?ใครร่วง? วันที่ 14 เมษายน 2566 เสนอ บทความ พ.ศ.2570 : ปิดมหาวิทยาลัยของรัฐ 32 แห่ง?  วันนี้ 16 เมษายน 2566 บทความ ### พลิกกลยุทธ์สู้การปิดมหาวิทยาลัย สู่โลกอุดมศึกษา ศตวรรษที่ 21 

edunewssiam ขอกราบขอบพระคุณและขออนุญาตนำมาเผยแพร่ มา ณ ที่นี้    

 

ซึ่งบทความสองบทข้างต้น กล่าวถึงวิกฤติอุดมศึกษาไทย ที่คงต้องปิดมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับต่างประเทศ ส่วนบทความที่สาม เมื่อวันนี้ 15 เมษายน 2566 ผมจะขอเสนอความเห็นว่า “ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะถูกปิดหรือควบรวมหรือไม่?” ทุกมหาวิทยาลัยก็ควรต้องปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง ปรับประยุกต์มหาวิทยาลัยของตนตามบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตนักศึกษา ทุกภาคส่วนต้องร่วมใจ มัดใจกัน เพื่อมหาวิทยาลัย

 

วันนี้ จึงขอเสนอแนวทางการรับมือของมหาวิทยาลัย ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะต้องถูกปิดหรือไม่ก็ตาม มหาวิทยาลัยต้องตระหนักและปรับตัวเนื่องด้วยโลกเปลี่ยนไปแล้ว

 

จุดอ่อนประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยไทย คือการไม่เปลี่ยน mindset ความเชื่อ และ paradigm กระบวนทัศน์ ในการออกแบบหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงตั้งเป้าหมายเดิม ทำแบบเดิมๆ คือผลิตบัณฑิตเข้าสู่หน่วยงานรัฐ และเอกชน เป็นหลัก ทั้งที่ ในปัจจุบันมีตำแหน่งงานจำกัดทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน

 

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรต้องสร้างหลักสูตรและปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ ให้บัณฑิตสามารถสร้างงานอาชีพให้ตนเองได้ด้วย นอกจากการมุ่งสู่หน่วยงานของรัฐและเอกชนแต่เดียงอย่างเดียว โดยเปลี่ยน mindset ความเชื่อ และ paradigm กระบวนทัศน์ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ดังต่อไปนี้

 

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย และอันดับต้น ๆ ของโลก ต้องปรับโมเดลของมหาวิทยาลัย จากที่เคยจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี 4 ปี เป็น “มหาวิทยาลัยตลอดชีวิต” (Lifelong University) คือ การให้การศึกษาแก่ประชากรไม่เฉพาะแต่ในระดับปริญญา แต่เป็นการจัดการศึกษาที่ให้คนทุกวัย สามารถเข้ามาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะความรู้และสมรรถนะ ของประชากรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ผลที่ตามมาคือทำให้มหาวิทยาลัยมีผู้เรียนเพิ่มขึ้น โดยวิธีการ

  

1. การเปิดหลักสูตรใหม่ๆ (New curriculum) เพื่อให้คนที่เรียนจบไปแล้วสามารถกลับมาพัฒนาต่อยอดทักษะความรู้ได้ตลอดเวลา

2. มีโปรโมชั่น h(Promotion) สำหรับศิษย์เก่า สามารถกลับเข้าไปเรียนเพิ่มทักษะได้ฟรี 2 โมดูล  ภายใน 3 ปี ทำให้ผู้เรียนซึ่งเป็นศิษย์เก่ากลับไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง 

3. การสะสมคอร์ส (Credit bank) จนครบตามมาตรฐานหลักสูตร ก็สามารถเปลี่ยนเป็นปริญญาได้ เช่น ปริญญาตรีใบใหม่ หรือปริญญาโท ภายใต้มาตรฐานที่สูงของสิงคโปร์

 

นายออง ยี คัง (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ประกาศชัดว่า ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ หรือยุค Industry 4.0 การศึกษาแบบเดิม มหาวิทยาลัยแบบเดิม กำลังจะล้าสมัย จึงต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ดังเช่น

 

1.เน้นการสร้างผลกระทบต่อผู้เรียน คือผลลัพธ์ของการเรียน (Outcome) มากกว่าเกรด ผลิตคนหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน และเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต

 

2.เปลี่ยนการเรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียน มาเป็นการฝึกฝนประสบการณ์ ผสมผสานการทำงานจริง แก้ปัญหาจริง (WIL:Work intregrated Lesrning)  มหาวิทยาลัยในอนาคตจะเป็นลักษณะเรียนควบคู่กับการทำงาน เป็นผู้ประกอบการไปด้วย

 

3.เด็กสิงคโปร์ จะต้องอยู่ในโลกยุคการค้าดิจิทัลได้ มีทักษะด้าน Computational Thinking (การคิดเชิงคำนวณ หรือ กระบวนการแก้ปัญหาแบบมีลำดับ)

 

4.เพิ่มความหลากหลายของอุดมศึกษา (Flexible curriculum/Inter-disciplinary curriculum/Multi-disciplinary curriculum) ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสนใจ มีสายอาชีพหลากหลาย แนะนำเส้นทางอาชีพให้ผู้เรียนได้รู้ว่าตนชอบหรือถนัดอะไรตั้งแต่วัยเด็ก 

 

5.เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) สำหรับคนที่เรียนจบไปแล้ว และต้องการกลับมาเรียนใหม่

 

6.พลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) ที่มากกว่าการสอนและการวิจัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้ 

 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นแล้ว รัฐต้องมีนโยบาย คุณภาพประชาชนด้านการศึกษา ทั้ง Re-skill, Up-skill และ New skill สำหรบคนที่ยังไม่เคยเรียนในระบบอุดมศึกษาให้กลายมาเป็นลูกค้าใหม่ 

 

 

การปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆเหล่านี้

 

I.โลกกำลังถูกควบคุมด้วยพลังอำนาจ (Power) สามเหลี่ยมของพลังอำนาจในโลกแบ่งเป็น อำนาจแข็ง(Hard Power) และ อำนาจอ่อน (Soft Power) โดยสรุป ดังนี้

 

1.อำนาจแข็ง(Hard Power) แบ่งเป็นสามด้าน ประกอบด้วย

     (1)พลังอํานาจในการสร้างและดำเนินการตัดสินใจ (MaxWeber)และการทำลายล้าง (Kenneth Boulding)

(2)พลังอำนาจในการ กําหนดกติกาและข้อจํากัดการโต้เถียง (Peter Bachrach& Morton Baratz) 

(3)พลังอํานาจในการจัดการกับความคิดของผู้อื่น ให้เป็นไปตามท่ีต้องการ( Lukes) Hard Power จึงหมายถึงการใช้อำนาจบังคับ เช่น การใช้อาวุธในสงคราม การใช้อำนาจบังคับผู้ที่ไม่เห็นด้วย

 

         2.อำนาจอ่อน (Soft Power) แบ่งออกเป็นสามด้าน ประกอบด้วย

         (1)ประสิทธิผลหรือพลังอํานาจการจ่าย (Kenneth Boulding)

(2)พลังอํานาจในการรวมผู้คนและทำให้ผู้คนเหล่านั้น รู้สึกห่วงใย เคารพและอยู่เคียงข้าง (Kenneth Boulding)

(3)พลังอํานาจในการสร้างความพอใจ ในความเป็นจริง (Nye) โดยสรุป Soft Power จึงหมายถึง การโน้มน้าวใจ หรือการทำให้กลุ่มเป้าหมายคล้อยตาม และชื่นชอบโดยปราศจากการใช้อำนาจ แต่จะใช้จุดเด่นด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาสร้างเสน่ห์ให้คนหลงรัก จนกลายเป็นความเชื่อถือ และไว้ใจ 

 

II.ที่มาของ Hard Power และ Soft Power ในสถาบันอุดมศึกษา 

 

1.องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Natural Science & Tachnology) รวมทั้งวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ (Life Sciences & Medicine) ถือเป็นต้นทุนที่เป็น “Hard Power” ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ในการใช้อำนาจตามอาชีพในหลักสูตร

 

2.องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม (Culture)) และ ศิลปะ-วัฒนธรรม-ดนตรี (Art-Culture-Music ) “Softpower” ถือเป็นพลังเสริมที่จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการพัฒนาประเทศ จึงสมควรส่งเสริมอาชีพประเภทนี้เข่นเดียวกัน 

 

III. “Soft Power” จากผลวิจัยพบว่า ผู้บริโภคยังเชื่อในพลัง Soft Power ของไทย โดย 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคอยากเผยแพร่ให้ต่างชาติรับรู้มากที่สุด ได้แก่

 

 (1). อาหารและเครื่องดื่ม 73.2% 

 (2). บริการที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตร 59.1%

 (3). ศิลปะและวรรณกรรม 56.8%

           ส่วน 5 อันดับสินค้าและบริการที่คนไทยคิดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ได้แก่

 (1) การท่องเที่ยว 4.06 

 (2) การแพทย์และความงาม 3.80 

 (3) อาหารสินค้าแปรรูปและผลิตภัณฑ์การเกษตร 3.62 

 (4) การผลิต เช่น รถยนต์ อัญมณี 3.55 (5) บันเทิง 3.45 

 

IV.หลักสูตรอุดมศึกษาต้องการ Skills อะไรบ้าง

 

1.Hard Skill เป็นทักษะที่ได้รับการฝึกสอนตามหลักสูตรในมหาวิทยาลัย และสถานศึกษาต่างๆ หรืออาจเรียนรู้จากหนังสือ E-Book เว็บไซต์ วีดิโอ สื่อโซเชียลต่างๆ เช่น

* หลักสูตรอุดมศึกษาที่หลากหลาย(ปริญญาตรี / ปริญญาโท / ปริญญาเอก) 

* ความสามารถทางภาษา (ฟัง / อ่าน / เขียน) 

* สายการศึกษา (การตลาด / บริหารธุรกิจ / วิทยาศาสตร์ / โฆษณา) 

* ความสามารถในการพิมพ์ (ความเร็วในการพิมพ์) 

* ความสามารถในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ 

* ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์

 

2.Soft Skill เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะดูเป็นนามธรรม มักใช้คำว่า People Skill หรือ ทักษะที่เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคลล เช่น

* ทักษะการสื่อสาร 

* ความยืดหยุ่นในการทำงาน 

* ความเป็นผู้นำ 

* แรงจูงใจในการทำงาน 

* ความอดทนในการทำงาน 

* ทักษะการโน้มน้าวใจ 

* ทักษะในการแก้ไขปัญหา 

* การทำงานเป็นทีม 

* การบริการจัดการเวลา

* จริยธรรมในการทำงาน

 

Soft Skill ในที่นี้ยังหมายถึง ทักษะของคนในศตวรรษท่ี 21 และสมรรถนะ(Competencies)ด้วย

 

V.หลักสูตรในมหาวิทยาลัย มีสามกลุ่มประเภท คือ กล่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) กลุ่ม วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์  (Science & Applied Science) และกลุ่มสังคมศาสตร์ (Social Science) ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรต้องมีการกำหนดทิศทางการจัดรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าเรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome)มี่เหมาะสม

 

VI.บริบทสำคัญของกรอบนโยบายยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐ จำนวน ๖ ด้าน ได้แก่

     (๑) นวัตกรรมพลิกโฉม (Disruption Innovation)

(๒) สังคมสูงวัย (Aging Society)

(๓) การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization)

(๔) ความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคทางสังคม (Disparity and social inequality)

(๕) การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากร (Environmental  Degradation  and Scarcity  of Resource)

(๖) การเปลี่ยนขั้วอำนาจและเศรษฐกิจของโลก (Global economic power shift)

 

บริบทสำคัญข้างต้นเป็นเป้าหมายและแนวทางในการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาของไทย

 

VII.ข้อจำกัดในการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาของไทย คือ โลกถูกป่วน (World Disruption) จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่สำคัญที่สุด คือ

 

(๑) อัตราการเกิดของจำนวนประชากรไทยลดลงครึ่งหนึ่ง พ.ศ.๒๕๑๓ มีอัตราการเกิดปีละ ๑,๒๒๐,๐๐๐ คน  ส่วน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีอัตราการเกิด ๕๘๗,๓๖๘ คน ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ในช่วง ๕๐ ปี (๒๕๑๓-๒๕๖๓) แต่

 

(๒) จำนวนโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานกับสถาบันอุดมศึกษาที่จัดตั้งและขยายตัวในช่วง ๕๐ ปี ข้างต้น มิได้ลดลงครึ่งหนึ่งตามไปด้วย

 

ส่วน (๓) จำนวนประชากรโดยรวมไม่ลดลงมากนัก นื่องจากไปขยายตัวในด้านจำนวนของประชากรผู้สูงวัย โดยจำนวนประชากรไทย อายุ ๖๐ ปี ขึ้นไป ๑๓,๒๑๐,๔๙๓ คน โดยมีประชากรไทย อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป ๘,๘๑๐,๖๙๗ คน  และ อายุ ๘๐ ปีขึ้นไป ๑,๔๕๓,๑๘๕ คน (มิเตอร์ประเทศไทย : ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕)

 

(๔)การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

 

(๕)ความถดถอยของสภาวะเศรษฐกิจ

 

(๖)ความก้าวหน้าทางวิทยาการ

 

(๗)สภาวะโควิด 

 

(โปรดติดตาม บทความ รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก : พลิกกลยุทธ์สู้การปิดมหาวิทยาลัย สู่โลกอุดมศึกษา ศตวรรษที่ 21 ต่อตอนที่สอง )

 

( โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว )

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage