‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้ สพท.’หักเงินเดือนครูฯ ปี 51 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เปิดแคมเปญรณรงค์ลงโทษ‘

 

‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้ สพท.’หักเงินเดือนครูฯ ปี 51 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เปิดแคมเปญรณรงค์ลงโทษ‘

 

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ‘เครือข่ายแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูฯ’ เปิดแคมเปญรณรงค์ ให้มีการกำหนดโทษ ‘สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา’ ที่ไม่ปฏิบัติตาม ‘ระเบียบการหักเงินเดือน’ ปี 2551 ชี้เป็นต้นเหตุของปัญหา ‘หนี้สินครู’ 3 มิติ

  

เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู ออกแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์รณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่อง กำหนดโทษสำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ไม่ดำเนินการตามระเบียบการหักเงินเดือน พ.ศ.2551

 

เนื่องจากทางเครือข่ายฯเห็นว่า การที่ สพท. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อเพื่อนครูทั่วประเทศ

  

ทั้งนี้ เครือข่ายฯให้ข้อมูลในเว็บไซต์ว่า การที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย การหักเงินเดือนเงินบําเหน็จบํานาญข้าราชการ เพื่อชําระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 หรือระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนปี พ.ศ.2551 และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อเพื่อนครูทั่วประเทศในอย่างน้อย 3 มิติ ได้แก่

 

(1) ครูไม่เหลือเงินเดือน 30% สำหรับใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ

 

(2) ครูผู้กู้ผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 5 หมื่นรายทั่วประเทศ เนื่องจากกระบวนไกล่เกลี่ยให้เจ้าหนี้ทุกรายแบ่งเงินเดือน 70% ไม่สามารถเกิดขึ้น สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่มักได้เงินเดือน 70% ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับครู

 

(3) ครูมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะการกู้ยืมที่เกินศักยภาพจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้คำนวณเงินเดือนสุทธิหลังหักชำระหนี้จากหนี้ที่เจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บ ทำให้ครูกู้ยืมได้เกินความสามารถ

  

เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูเห็นว่า สาเหตุที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากล้าที่จะละเลยไม่ดำเนินการตามระเบียบ เนื่องจากการไม่ทำตามระเบียบนั้นไม่มีโทษใด ๆ ซึ่งปกติแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ

 

อาทิ การตัดผมหรือลงโทษนักเรียนยังมีความผิดมีการตั้งกรรมการสอบสวน ในขณะที่การไม่ทำตามระเบียบ ปี 51 กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของครู อย่างมีนัยสำคัญกลับไม่มีโทษเป็นอะไรที่ผิดปกติวิสั 

 

ในเรื่องนี้เครือข่ายเห็นว่า ถ้าสามารถที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครูได้เพียงเรื่องเดียว จะต้องเลือกที่จะบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนปี 51 อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นหัวใจของกระบวนการจัดทำสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน

 

ซึ่งหนี้สินของครูกว่า 95% คือ สินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน การกำหนดโทษสำหรับสำนักงานเขตที่ไม่ทำตามระเบียบหักเงินเดือนปี 51 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ครู

  

ดังนั้น หากกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนรัฐบาล มีความจริงใจและตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครู จำเป็นต้องกำหนดโทษทั้งด้านวินัย และ การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่ดำเนินการตามระเบียบการหักเงินเดือนปี 2551 อย่างเคร่งครัด

 

การกำหนดโทษให้ชัดเจนในครั้งนี้จะยุติมหากาพย์ครูกินครูที่เรื้อรังและทำร้ายครูมาหลายสิบปีให้ยุติลงได้”เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู ระบุ.

  

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)