รายงาน : บริษัทผลิตDrone ลงนาม สอศ. ผนีกกำลังพลคนอาชีวะ สร้างอากาศยานไร้คนขับ

 

บริษัทผลิตDrone ลงนาม สอศ. ผนีกกำลัง

พลคนอาชีวะ  สร้าง อากาศยานไร้คนขับ

 

EdunewsSiam : รายงานพิเศษ 

 

โดรน (Drone) หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังถูกหลายฝ่ายจับตามองอยู่ในขณะนี้ เพราะทำหน้าที่ในการบังคับเครื่องบินแทนมนุษย์

 

ทั้งนี้ บทบาทของ โดรน หรือเรียกอีกอย่างว่า อากาศยานไร้คนขับ กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกิจในวันนี้ ต่างจากอดีตที่โดรนถูกใช้ในการทหารและภารกิจป้องกันประเทศเป็นหลัก โดยผลการศึกษาของ PwC’s CEO pulse ที่ผ่านมาระบุว่า 64% ของผู้บริหารทั่วโลกเชื่อว่า ในอนาคตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) จะยิ่งถูกนำมาผนวกอยู่ในรูปแบบการทำธุรกิจและถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายครอบคลุมแทบทุกสายอุตสาหกรรม 

 

นับเป็นข่าวดีสำหรับชาวอาชีวะ เมื่อวันที่  7  มิ.ย. 2566  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ บริษัท สกาย อิมเมจ เทค (ซิท) จำกัด โดยมี คุณพสุ มณิปันตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกาย อิมเมจ เทคฯ ร่วมลงนาม พร้อมด้วย Mr. Michael Nee ตัวแทนจากบริษัท กว่างโจว อี้หาง อินเทลลิเจนต์ เทคโนโลยี จำกัด (EHang) ผู้บริหารระดับสูง สอศ. และผู้อำนวยการสถานศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 5 สอศ.

 

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับ บริษัท สกาย อิมเมจ เทค (ซิท) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท กว่างโจว อี้หาง อินเทลลิเจนต์ เทคโนโลยี จำกัด (EHang) ผู้ผลิตอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ชั้นนำแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอากาศยานไร้คนขับที่ทันสมัย ที่จะช่วยยกระดับการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน

 

ความร่วมมือในครั้งนี้ สามารถช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ การสร้างประสบการณ์ และความชำนาญด้านทักษะปฏิบัติให้ครู นักเรียน นักศึกษา เป็นบุคคลที่มีศักยภาพและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันด้านช่างอากาศยานไร้คนขับ และหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และร่วมจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา

 

อีกทั้งยังมีการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพในสาขาช่างอากาศยานไร้คนขับ โดยการฝึกปฏิบัติจริง ให้ได้มาตรฐานทางวิชาชีพในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งตอบโจทย์และเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน” เลขาธิการกอศ. กล่าว

 

 

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน อากาศยานไร้คนขับสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทั้งด้านการแพทย์ ด้านการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย ด้านการค้าและการขนส่ง อุตสาหกรรม Logistic การสร้างคนให้มีความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องพัฒนาศักยภาพครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียน นักศึกษา ให้มีทักษะการทำงาน ทักษะวิชาชีพ เตรียมทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นตามความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในสาขาวิชาชีพ สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต สอดคล้องกับแนวคิด สร้างบ้าน สร้างเมือง ด้วยฝีมือคนอาชีวะเพื่อการพัฒนาประเทศ

 

 

     นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของโดรน ยังสามารถทำงานแทนมนุษย์ในหลากหลายด้าน ทั้งสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประมวลผล อีกทั้งประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้โดรนเป็น 1 ใน 8 ของเทคโนโลยีสำคัญในอนาคต 

 

     ตามรายงาน The essential eight technologies ของ PwC ขณะที่การใช้งานของโดรนจะเป็นไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2558 ถึง 2563 อยู่ที่ 19% เทียบกับทางทหารมีเพียง 5% เท่านั้น

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage