รายงาน: รัฐบาล “เกาหลีใต้”-“จีน” ให้ลดการ “กวดวิชา” สะท้อนความเหลื่อมล้ำและล้มเหลวการศึกษาไทย ที่ กสศ.มองไม่เห็น

 

 

รัฐบาล “เกาหลีใต้”-“จีน” ให้ลดการ “กวดวิชา” สะท้อนความเหลื่อมล้ำและล้มเหลวการศึกษาไทย ที่ กสศ.มองไม่เห็น

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : tulacom@gmail.com/ รายงานพิเศษ

 

รัฐบาล “เกาหลีใต้” ประกาศแผนเพื่อลดการทุ่มเงิน “กวดวิชา” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกของแดนโสมขาวสูงที่สุดในโลก โดยจะเริ่มจากการปรับแก้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนของรัฐ

 

โดยในวันที่ 26 มิถุนายน 2023 มีประกาศ รัฐมีแผนที่จะลดการใช้จ่ายมหาศาลไปกับโรงเรียนกวดวิชาของพ่อแม่ผู้ปกครองชาวเกาหลี ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของคนเกาหลีใต้ตกต่ำลงมาก

 

อีกทั้ง ปัจจัยหลัก ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกของแดนโสมขาวสูงที่สุดในโลก คือ การทุ่มเงิน “กวดวิชา” เพื่อทำข้อสอบเอนทรานซ์ที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัย มักจะออกให้ยากและไม่มีสอนในหลักสูตรปกติ จนเด็กมัธยมส่วนใหญ่ ต้องเข้าเรียนกวดวิชาเพื่อฝึกทำโจทย์นอกหลักสูตร

 

โดยนักเรียนเกาหลีใต้เกือบ 8 ใน 10 คนลงเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่เรียกกันว่า “ฮากวอน"

 

 

”รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการและสำนักสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ ระบุว่า เมื่อปี 2022 ชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศลงทุนกับการส่งลูกไปเรียนกวดวิชาคิดเป็นเม็ดเงินรวมกันกว่า 26 ล้านล้านวอน (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) ทั้ง ๆ ที่ประชากรวัยเรียนในประเทศกำลังลดจำนวนลง

 

เดือนเดียวกัน ก่อนหน้านี้ “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพิ่งจะวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่า มีการตั้งโจทย์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของรัฐ  มีโจทย์บางข้อถึงขั้นถูกเรียกว่าเป็น “คำถามฆาตกร” เนื่องจากมีความซับซ้อนสูงมากจนนักเรียนทั่วไปไม่สามารถแก้โจทย์ได้

 

ดังนั้น การที่ต้องส่งลูกเข้า “ฮากวอน” ก็เพราะข้อสอบเอนทรานซ์ที่มี “คำถามฆาตกร” คำถามที่ยากและไม่มีสอนในหลักสูตรปกติเช่นนี้ เปิดช่องให้โรงเรียนกวดวิชา ทำหน้าที่สอนวิธีแก้โจทย์เหล่านี้แทน

 

ลี จูโฮ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ กล่าวในการแถลงข่าว “เราจะตัดวงจรของ ‘คำถามฆาตกร’ ในข้อสอบ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการแข่งขันจนเกินพอดีในหมู่นักเรียนและผู้ปกครองภายในโรงเรียนกวดวิชา”

 

รัฐมนตรีลี ยังให้คำมั่นว่าจะกวาดล้าง “กลุ่มผูกขาด” ในตลาดการศึกษาภาคเอกชนเหล่านี้ และจะมีการสอดส่องการโฆษณาเกินจริง ของโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 

ที่ผ่านมาสื่อมวลชนท้องถิ่นของเกาหลีใต้ เคยรายงานว่า การกวดวิชามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างอุตสาหกรรมโรงเรียนกวดวิชา กับ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยความสัมพันธ์นี้ นำไปสู่การออกข้อสอบเอนทรานซ์ที่ทำให้ต้องมีการ “ติว” หนังสือนอกโรงเรียนเท่านั้น จึงจะทำข้อสอบได้

 

แต่สังคมเกาหลีใต้มองว่า คำถามที่ยาก ๆ จะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้คัดเลือกนักเรียนที่เก่งที่สุด ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูง

 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียุน ซอกยอล  ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า การออกข้อสอบลักษณะนี้ “ไม่ยุติธรรม” เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวมีกำลังทรัพย์พอส่งลูกไปเรียนพิเศษนอกเวลาได้

 

ด้าน “ชิน โซยัง” นักกิจกรรมรณรงค์จากกลุ่ม The World Without Worry About Private Education (โลกที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเรียนกวดวิชา) กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาแผนที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ และตอบคำถามว่าจะทำอย่างไร เพื่อลดการแข่งขันเกินสมควรในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดไม่กี่แห่งของประเทศ

 

“แผนของรัฐบาลดังกล่าว อาจจะยังไม่พอที่จะหยุดการแข่งขันด้านการศึกษาได้” ชินกล่าว

 

ขณะเดียวกัน มองไปที่ ‘จีน’ ขึ้นแท่นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการ ‘เลี้ยงลูก’ สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก ‘เกาหลีใต้’

 

รัฐบาลจีนก็มีนโยบาย “กำกับควบคุมสถาบันกวดวิชา” ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา จุดประสงค์ คือ เพื่อลดแรงกดดันต่อเยาวชนจากการถูกบีบให้กวดวิชาหลังเลิกเรียน รวมถึงความกดดันที่มีต่อพ่อแม่ด้วย

 

ส่งผลให้สถาบันกวดวิชา จัดหาติวเตอร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหลายต่างต้องลดขนาดธุรกิจลง และมีการเลย์ออฟพนักงานประมาณ 40,000 คน ทั้ง ๆ ที่เมื่อต้นปี 2021 บริษัทบริษัทกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดของจีน เคยมีพนักงานถึง 100,000 คน ซึ่งเป็นช่วงธุรกิจกวดวิชากำลังบูมสุดขีด

 

อย่างเช่นสถาบันกวดวิชา New Oriental ในเซี่ยงไฮ้ พบว่า คลาสการเรียนเชิงวิชาการถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด จะเหลือคอร์สเรียนวิชานอกหลักสูตรเป็นหลัก เช่น เขียนพู่กันจีน ออกแบบหุ่นยนต์ ค่ายศึกษาระบบนิเวศ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ยานยนต์ เป็นต้น

 

หากจะกล่าวสำหรับ ‘โรงเรียนกวดวิชา’ ในประเทศไทย นักวิชาการบางคน กล่าวว่า คือ เงาสะท้อนความเหลื่อมล้ำและล้มเหลวของการศึกษา

 

สถาบัน PISA THAILAD ระบุว่า การศึกษามีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยไม่ได้หมายถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่ากันด้วย

 

ปริมาณโรงเรียนหรือสถานที่ใช้เป็นที่กวดวิชา สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยได้อย่างน่าเศร้า ทั้งความเชื่อมั่นของเด็กที่มีต่อการศึกษาในโรงเรียน และเนื้อหาในห้องเรียน ที่ไม่สามารถนำไปใช้สอบวัดผลหรือสอบแข่งขันได้

 

สอดรับกับการรับเด็กเข้าเรียนของแต่ละโรงเรียนมีการวัดผลจากคะแนนสอบ เช่น สอบเข้า ป.1 ป.6 ม.1 เป็นต้น ทำให้เกิดการแข่งขันทางวิชาการสูง โรงเรียนที่มีทรัพยากร ครู หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ดีกว่าอีกโรงเรียนหนึ่งก็จะได้รับความนิยมมากกว่า

 

และเพื่อให้ได้คะแนนที่ดี โรงเรียนกวดวิชา จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เด็กมีคะแนนสูงเพียงพอต่อการสอบคัดเลือก

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

 

โดย 1 ใน 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาจิตเวช ความรัก ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว และความเครียดหรือความวิตกกังวล  

 

หรือเป็นเพราะ ‘การกวดวิชา’ ในประเทศไทย เป็นเพียงแค่เงาสะท้อนความเหลื่อมล้ำและล้มเหลวของการศึกษา เพียงบาง ๆ จึงทำให้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ไม่ได้กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ที่จะเสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ  

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage