สอศ.ผนึกกำลังกสศ-อว. หนุนความเสมอภาคทางการศึกษา

 

วันที่  7 ก.ค. 2566  ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(รองเลขาธิการกอศ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

โดยมี ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้แทน กสศ. คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อความเสมอภาคและสร้างโอกาสทางการศึกษา ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอาคารอินทนิล สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา

 

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมมือกับ กสศ. เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ สอดคล้องกับ นโยบายเร่งด่วน สอศ. เรื่องการขับเคลื่อนศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา โดยขับเคลื่อนเพื่อความเสมอภาคสร้างโอกาสทางการศึกษา เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา ลดปัญหาเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อ และมีงานทำ มีรายได้ เป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา พัฒนาความสามารถและคุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ และสนับสนุนการผลิตบุคลากรสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

 

 

รองเลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อความเสมอภาคและสร้างโอกาสทางการศึกษา จะได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนสถานศึกษา ทำงานตามกรอบคุณภาพด้าน การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาระบบดูแลความเป็นอยู่ และการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านความเป็นอยู่ การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน รวมถึงการส่งเสริมให้มีงานทำหลังสำเร็จการศึกษา จัดให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการโครงการ สร้างขวัญและกำลังให้ครูที่รับผิดชอบโครงการ ดูแลนักศึกษาให้ได้รับความดีความชอบในการปฏิบัติงาน และการกระตุ้นให้ผู้บริหาร ครู อาจารย์ เชื่อมโยงการปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำเข้ากับการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลงานวิชาการที่จะส่งผลให้ผู้บริหาร ครู อาจารย์ สามารถเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะที่สูงขึ้น

 

 

“สอศ. และ กสศ. ได้ดำเนินโครงการทุนต่าง ๆ ดังนี้ 

1.โครงการพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ "ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ" มีนักศึกษาสถาบันการอาชีวศึกษาได้รับทุน จำนวน  27 คน

2.โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภททุน 2 ปี (ปวส.) และประเภททุน 5 ปี (ปวช. ต่อเนื่อง ปวส.) สำหรับสถานศึกษาทั่วไป มีนักศึกษาได้รับทุนและสำเร็จการศึกษา จำนวน 2,177 คน โดยในปีการศึกษา 2566 มีทุนที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 1,265 ทุน สำหรับสถานศึกษานวัตกรรม มีนักศึกษาที่ได้รับทุน(อยู่ระหว่างการศึกษา) จำนวน 136 คน โดยปีการศึกษา 2566 มีจำนวนทุนที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 275 ทุน

3.โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้มีความต้องจำเป็นการพิเศษ มีนักศึกษาที่ได้รับทุนและสำเร็จการศึกษา จำนวน 62 คน โดยปีการศึกษา 2566 มีทุนที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 140 ทุน”เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการกอศ.สรุปทิ้งท้าย