รายงานพิเศษ เสียงแตก กม.คนเข้าเมืองผลักดันเด็ก 126 คน จาก ร.ร.ในอ่างทอง กลับเมียนมา-ภูมิลำเนา ติง ! อนุสัญญาบางอย่างไม่เหมาะสภาพสังคมปัจจุบัน

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน EdunewsSiam : รายงานพิเศษ 

เสียงแตก กม.คนเข้าเมืองผลักดันเด็ก 126 คน จาก ร.ร.ในอ่างทอง กลับเมียนมา-ภูมิลำเนา ติง อนุสัญญาบางอย่างไม่เหมาะสภาพสังคมปัจจุบัน  

 

...กรุณาทบทวนด้วย อนุสัญญาบางอย่างอาจจะเหมาะกับช่วงสมัยนั้น ๆ แต่ถ้าพบว่ามีจำนวนมากผิดปกติ จะทำให้เสียสมดุลทางงบประมาณ และมีผลต่อสังคมพื้นถิ่นเอง ก็ควรพิจารณาใหม่ ปรับให้ร่วมสมัยกับสังคมปัจจุบัน

...ขอให้กระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนนโยบายด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยแรงงานต่างชาติไม่เพียงมาทำงานเท่านั้น หากยังเล่นขนมาทั้งครอบครัว ทำให้เราต้องแบกรับภาระใช้งบประมาณในเรื่องนี้มากอยู่ ถ้าเกิดมีการนำเข้ามาเป็นร้อยเป็นพัน จะเป็นภาระงบประมาณไทยในอนาคต แบกรับแทนเพื่อนบ้านไหม ซึ่งน่าจะผิดปกติ ต่างประเทศให้เข้าได้เฉพาะแรงงานเท่านั้น...

  

ความคืบหน้ากรณีที่เด็กนักเรียนอายุ 5-16 ปี จากเมียนมาเข้ามาเรียนจำนวน 126 คน ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 (ราษฏร์อุปถัมภ์) อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง

 

ตามข้อเท็จจริง เมื่อชาวบ้านเห็นจำนวนที่มากผิดปกติ จึงได้ร้องเรียนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่างทอง เข้าตรวจสอบพร้อมหลายหน่วยงานทั้งฝ่ายปกครองและหน่วยความมั่นคงในจังหวัด พบว่าได้มีการนำเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าวจริง  ซึ่งการคัดกรองเด็กพบจากจำนวนนักเรียนจำนวน 124 คน มีเด็กสัญชาติไทยจำนวนเพียง 7 คน ส่วนที่เหลืออีก 117 คน ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรและไม่มีสัญชาติไทยจึงเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทาง จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งตัวให้ผู้ปกครอง และผลักดันออกนอกประเทศ ทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน

 

กัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง ให้สัมภาษณ์ว่า เธอรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้เมื่อ ก.พ. 2565 ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนอยู่  12 คน เมื่อหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วมีทางออกคือการไปรับเด็กจากที่อื่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำมานานแล้ว 20-30 ปี จึงได้ติดต่อศิษย์เก่าบนดอยแม่สลอง โดยชุดแรก 35 คน ซึ่งได้ทำเรื่องตามระบบ โดยบันทึกข้อมูลเด็กไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร์โดยไม่มีปัญหาใดๆ จนได้เอกสารตัว G

 

เล่าความต่อว่า ในปีนี้ได้มีการประสานงานเพื่อรับเด็กมาเรียนอีกครั้ง ซึ่งก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังมูลนิธิวัดสระแก้ว เช่นเดิม เพื่อให้ดูแลจนรับเด็กมาได้ 72 คน ซึ่งเดิมทีต้องการเด็กเพียง 40 คน แต่มีผู้ปกครองที่ทราบข่าวต้องการให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนที่นี่จำนวนมาก เพราะมีการบอกต่อๆ กัน รวมทั้งเด็กๆ ก็ต้องการมาเรียน เมื่อเด็กๆ มาถึงก็ทำกระบวนการเช่นเดิม

 

แต่ครั้งนี้มีการตั้งคำถามเพราะมีการร้องเรียนจากบุคลากรบางคนในโรงเรียนจากสำนักงานเขตพื้นที่ฯ เพราะเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากขึ้นเยอะและลงมาตรวจสอบ ในที่สุดทางเขตการศึกษาบอกว่า ถ้าไม่มีเอกสาร จึงขอให้ส่งเด็กกลับ ซึ่งตนเองก็เตรียมที่จะส่งกลับแล้ว

 

แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการไปแจ้งความ และกลายเป็นเรื่องที่บานปลายไปเรื่อย ๆ

 

"เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มีทั้งที่อยู่ฝั่งไทยและเดินทางข้ามมาจากฝั่งพม่า บางคนก็มีพ่อแม่เป็นคนไทย ที่น่าเสียใจ คือ พอเกิดเรื่องทำให้เด็ก ๆ ทั้งหมดต้องออกจากเรียนกลางคัน ทั้งเด็กเก่า เด็กใหม่ มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พวกเขาควรได้เรียน เราเองก็ตอบคำถามผู้ปกครองไม่ได้ ดิฉันรู้สึกผิดมากที่เห็นเด็กๆ ไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้โรงเรียนก็ต้องปิดทั้งๆ ที่กระบวนการทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง ผู้ปกครองของเด็กๆ ต่างก็ได้ทำหนังสือรับรองอนุญาตให้มาเรียน"

 

ในวันต่อมา มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดเสวนา "ร่วมมือแสวงหาแนวทางการรับมือการจัดการสถานะบุคคลต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยการอพยพของประชาชนจากเมียนมา" ที่โรงแรม 'เดอะ เฮอริเทจ' (The Heritage) อ.เมือง จ.เชียงราย โดยผู้เข้าร่วมเป็นผู้รู้เรื่องงานสถานบุคคลซึ่งมีทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ผู้แทนยูนิเซฟ (Unicef) กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ส.ส. และตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรมการปกครอง หรืออื่น ๆ

 

ทั้งนี้ นอกจากการหารือถึงทางออกของปัญหาแล้ว ในที่ประชุมยังได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่หลายหน่วยงานของไทยขนย้ายเด็กๆ 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง มาอยู่ในสถานสงเคราะห์ จนทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฏหมายคุ้มครองเด็ก

 

ศรีประภา เพชรมีศรี อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรมีการเตือนสติกระทรวงศึกษาธิการ ว่า กำลังสับสนเรื่องภารกิจของตัวเอง และกำลังกังวลว่า มีอีกหลายกรณีที่รับเด็กนักเรียนลักษณะเดียวกันไปเรียน และจะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน เพราะเดิมทีผู้อำนวยการหลายโรงเรียนก็ไม่กล้ารับเด็กอยู่แล้ว เพราะกลัวว่าเป็นการให้ที่พักพิง และผิดกฎหมาย

 

ดังนั้น ควรมีการสำรวจว่ามีโรงเรียนแบบนี้มีอีกกี่แห่ง และขณะนี้มีเด็กอีกนับพันคนที่หนีภัยการสู้รบเราควรปฏิบัติกับเด็กเหล่านี้อย่างไร

 

กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่หน่วยงานราชการเลือกใช้แต่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้น ควรเอาเรื่องคุ้มครองเด็กไปไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือหากปล่อยไปเช่นนี้ก็ต้องยกระดับขึ้น ขณะเดียวกัน หลักการไม่ส่งเด็กกลับเป็นเรื่องจารีตระหว่างประเทศที่ไม่มีใครทำกัน

 

ดังนั้นการส่งเด็ก ๆ กลับไปในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

 

วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าเด็ก ๆ ไม่ควรถูกออกจากระบบการศึกษาแม้จะไม่มีหลักฐานใด ๆ ก็ตามซึ่งเป็นหน้าที่ที่กระทรวงศึกษาต้องออกเลขรหัส G-code ให้ ซึ่งกรณีนี้เด็กทั้ง 126 คน ทางโรงเรียนก็ได้ขอรหัสนี้ให้ แต่ไม่ได้รับ ที่ตนไม่เข้าใจคือทำไมถึงต้องส่งเด็กกลับ เพราะเด็กควรมีสิทธิเรียนในโรงเรียนใดก็ได้

 

"การจะเอาผิดกับผู้อำนวยการโดยตั้งข้อหานำพา และการให้เด็กได้เรียน เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเอามารวมกันก็วุ่นวาย กรณีนี้ผู้อำนวยการก็มีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครองให้เด็กๆ มาเรียนถูกต้องตามขั้นตอน" วีระ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ผู้ร่วมเสวนา เช่น เตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ., ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางมายังบ้านพักฉุกเฉินขอมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้นำเด็กนักเรียน 35 คนที่เดินทางมาจาก จ.อ่างทอง มาฝากไว้เพื่อรอติดต่อผู้ปกครองและส่งกลับ

 

ทั้งนี้ เด็ก ๆ หลายคนเป็นเด็กอยู่บนดอยแม่สลอง บางส่วนเป็นเด็กจากฝั่งพม่า โดยส่วนใหญ่บอกว่ายังต้องการเรียนหนังสือต่อ แต่คงหมดโอกาสโดยเฉพาะเด็กที่ข้ามมาจากฝั่งพม่า

 

ส่วนเด็กในฝั่งไทยก็อาจจะเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน สาเหตุที่เดินทางไปเรียนถึงจังหวัดอ่างทอง เพราะเคยมีรุ่นพี่ๆไปเรียนแล้ว จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม มีแฟนตัวยงที่ติดตามข่าวจากเฟสบุ๊ค ได้ให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นต่อท้ายเรื่องนี้ว่า...

 

...ขอให้กระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนนโยบายด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยแรงงานต่างชาติไม่เพียงมาทำงานเท่านั้น หากยังเล่นขนมาทั้งครอบครัว ทำให้เราต้องแบกรับภาระใช้งบประมาณในเรื่องนี้มากอยู่ ถ้าเกิดมีการนำเข้ามาเป็นร้อยเป็นพัน จะเป็นภาระงบประมาณไทยในอนาคต แบกรับแทนเพื่อนบ้านไหม ซึ่งน่าจะผิดปกติ ต่างประเทศให้เข้าได้เฉพาะแรงงานเท่านั้น...

 

จึงตามมาด้วยความเห็น นโยบายนี้ควรทบทวนไหม เกิดแรงงานต่างชาติ ขนลูก ขนหลานมากันเยอะๆ ไหวเหรอ ใช่เรื่องไหม

 

...ส่วนเสียงทางใต้ระบุมาว่า ภูเก็ตมีเด็กต่างด้าวด้อยโอกาสเยอะมาก แต่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนไทย สิทธิ์เหมือนเด็กไทย ทุกประการขณะที่ลูกชายอยู่ ม.1 ร.ร.รัฐแห่งหนึ่ง (ที่ต้องสอบแข่งขัน) มีเพื่อนร่วมห้องเป็นเด็กต่างด้าวก็เรียนอยู่ด้วย

 

...กรุณาทบทวนด้วย อนุสัญญาบางอย่างอาจจะเหมาะกับช่วงสมัยนั้น ๆ แต่ถ้าพบว่ามีจำนวนมากผิดปกติจะทำให้เสียสมดุลทางงบประมาณ และมีผลต่อสังคมพื้นถิ่นเอง ก็ควรพิจารณาใหม่ ปรับให้ร่วมสมัยกับสังคมปัจจุบัน

 

...เด็กไทยแท้ ๆ บางคนต้องออกจากการศึกษาเพราะฐานะยากจน ก่อนจะดูแลเด็กต่างชาติ เอาเด็กชาติตัวเองให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงก่อนเถอะครับ

 

...ตามด้วยบางท่านให้ข้อเสนอแนะว่า ต้องจัดหน่วยเรียนพิเศษ สำหรับต่างด้าวครับ ไม่ใช่เอามารวมกัน ,, เด็ก ๆ ไทยยากจนขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนมีอีกเยอะ ไปดูครับ เอาตรงนั้นก่อน, ส่วนการเรียนต่างด้าว ก็ช่วยเหลือพอประมาณครับ ตามสิทธิมนุษย์

 

....แต่ก็ยังมีบางเสียงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุน อาทิ สิทธิเด็กต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าอยู่ชาติไหน ถูกต้องครับ...ให้เรียนก่อน

 

...ลูกแรงงานพม่า บางคนเกิดเมืองไทย บางคนมาเมืองไทยแต่เด็ก พูดไทยขัด อยู่เมืองไทยมาค่อนชีวิต โตขึ้นก็เป็นแรงงานทำงานให้ไทย กลับไปพม่า คือ อดตาย ก็ควรให้เขาได้รับการศึกษาตามสมควร เพื่อจะได้เป็นคนทำงานที่ดีของไทย

 

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ยกมาให้ สพฐ.,สป.ศธ.และ ศธ. เห็นเป็นตัวอย่างการทำงานของคนที่เป็นตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร

 

นี่รับรู้แค่โรงเรียนเดียวในจังหวัดอ่างทอง ถ้าสำรวจตรวจจำนวนเด็กกลุ่มไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาเรียนในสถานศึกษาของ สพฐ.กันทั้งประเทศ น่าจะวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบได้

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage