ศธ. ปลื้ม” โชว์ผลงานระบบดิจิทัลทางการศึกษาไทยสุดก้าวไกล ในที่ประชุมอาเซียน

 

ศธ. ปลื้ม” โชว์ผลงานระบบดิจิทัลทางการศึกษาไทยสุดก้าวไกล ในที่ประชุมอาเซียน

 

การประชุมระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 เรื่อง ว่าด้วยการประกาศการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน (Regional Meeting on Roadmap on Declaration on Digital Transformation of Education Systems in ASEAN) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซูราบายา จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิจัยและเทคโนโลยี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี พ.ศ. 2566 

 

ครั้งนี้มี นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 เรื่อง โรดแม็ปว่าด้วย การประกาศการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน  

 

การประชุมมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหารือและนำเสนอการดำเนินงานในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในระบบการศึกษา ดำเนินการหรือมีความก้าวหน้าตามแผนกลยุทธ์อย่างไรบ้าง หลังจากการประชุมที่ผ่านมาสิ้นสุดลง ตามที่ได้รับรองเอกสารแผนกลยุทธ์ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน ไปแล้ว  

 

 

ซึ่งแผนกลยุทธ์ดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการประสานงานสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในภูมิภาค โดยจะระบุประเด็นสำคัญ เหตุการณ์สำคัญในการดำเนินงาน ตัวชี้วัด และภาคีที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการดำเนินงานภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน มีจุดเน้นที่สำคัญ คือ

 

การพัฒนาทักษะของครู

การจัดหลักสูตรและการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

รับประกันคุณภาพและทรัพยากรการเรียนรู้ดิจิทัลที่เข้าถึงได้ใช้การประเมินแบบดิจิทัล

การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูล

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

เสริมสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน

 

นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ได้นำเสนอการดำเนินงานด้านดิจิทัลในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า... 

 

...กระทรวงศึกษาธิการไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราชการ และการบริการภาครัฐในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษา” ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการสำนักงานให้เป็นสำนักงานดิจิทัล บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านระบบ Smart Office

 

อีกทั้งยังมีนโยบายในการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารและจัดการศึกษา ซึ่งได้เปิดตัวโครงการ “SEAMEO Smart Classroom” พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการซีมีโอ ที่จังหวัดสระแก้ว ด้วยการจัดส่งและติดตั้งชุดคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์และสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องให้กับโรงเรียน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19

 

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการไทยได้มอบเงิน 2,000 บาทต่อนักเรียนหนึ่งคน เพื่อช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษา และอุดหนุนค่าอินเทอร์เน็ตเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ออนไลน์ในช่วงเวลาดังกล่าว

  

 

 

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 กระทรวงศึกษาธิการได้ติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนและศูนย์การศึกษากว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ จัดหาระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอน ICT ให้กับโรงเรียนที่เน้นความต้องการและขาดแคลนระบบคอมพิวเตอร์ 

 

จัดโครงการพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และขยายโครงการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไปยังโรงเรียนประมาณ 1,200 แห่ง และ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน 500 แห่ง ซึ่งมีผลทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ครอบคลุมนักเรียนกว่า 3.6 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2564

 

นอกจากนี้ มีโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อการศึกษาในระบบดิจิทัลเพิ่มเติมอีก 12 ช่องรายการ สำหรับรายการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ่ายทอดสดจากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยแพร่การเรียนการสอนผ่านดาวเทียมขยายโอกาสทางการศึกษา ส่งผลให้ช่วยเหลือนักเรียนในชนบทห่างไกล ลดช่องว่างทางการเรียนรู้ และก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

 

อีกทั้งยังเน้นย้ำประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)

2) การส่งเสริมทักษะดิจิทัล ทักษะในศตวรรษที่ 21 และการเรียนการสอนที่ใช้ ICT

3) การกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต (CyberBully) และ

4) การบูรณาการ ICT ให้เข้ากับการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21

 

  

สำหรับการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนใน พ.ศ. 2573 (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 การศึกษา และเป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนความร่วมมือ ควบคู่กับแผนการศึกษาและแผนดิจิทัลนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกภูมิภาค เพื่อรับประกันการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมกันทางดิจิทัลสำหรับทุกคน 

 

ที่ประชุมได้ร่วมกันให้ข้อพิจารณาและรับรองแผนกลยุทธ์ฯ หลังจากนั้นจะนำแผนกลยุทธ์ฯ เข้าที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ในเดือนกันยายน 2566 เพื่อเสนอต่อผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป

 

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ในระหว่างปี พ.ศ. 2567 – 2568.

 

ที่่มา : สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ.

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage