“สร้างสุขภาคใต้” สานพลัง หนุนเสริมนวัตกรรม สู่สุขภาวะอนาคต

 

 

 

บทความพิเศษ โดย คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare สำนักข่าว Edunewssiam

 

เพิ่งปิดฉากการผนึกกำลังของงานสร้างสุขภาคใต้ ไปไม่นาน บอกเลยว่าพลังภาคีที่มาร่วมกัน สานพลัง ครั้งนี้ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ครั้งก่อน ๆ แน่นอน กับงานภาคใต้แห่งความสุขครั้งที่ 13 เพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ และการประชุมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน: โอกาส และความท้าทาย ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จ.สงขลา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.สงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่ายภาคใต้ ซึ่งมี นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นประธานคณะทำงานจัดงานครั้งนี้

 

 

ในปีนี้ มีรูปแบบการจัดงานสร้างสุขร่วมกับงานสมัชชาสุขภาพ ด้วยการกำหนดวาระสร้างสุขภาคใต้ 4 ประเด็น คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการยกระดับงานในพื้นที่สู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และขับเคลื่อนข้อเสนอในปีถัดไป โดยใช้รูปแบบการขับเคลื่อนงานระหว่างภาคีเครือข่าย เข้าสานงาน เสริมพลัง บูรณาการข้ามเครือข่าย ข้ามประเด็น และปีนี้นับเป็นปีแรกที่มีการประชุมวิชาการด้านการประเมินผลกระทบจากสุขภาพ (HIA Forum) ระดับประเทศเข้าร่วมด้วย 

 

 

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ 13 ว่า... 22 ปี ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง การริเริ่มการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้โอกาสในการสานพลังภาคีเครือข่าย สสส. ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำผลงานที่ขับเคลื่อนยกระดับเข้าสู่กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ โดยใช้กลไก ทุน ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ จนเกิดเป็นเป้าหมายความมั่นคงใน 4 ประเด็น 1. อาหาร 2. สุขภาพ 3. มนุษย์ 4. ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

 

 “ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต้องสานพลังความร่วมมือการทำงานกับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวทางการเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ ตามนโยบายของ สสส. ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งด้านความรู้ การสื่อสาร และการจัดการ ส่งเสริมให้ประชาชน เกิดการหนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาสุขภาพ ตลอดจนร่วมสร้างค่านิยม ผลักดันนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน

 

 

 

ผู้จัดการกองทุน สสส. ยังได้เล่าถึงการเดินทางของใต้สร้างสุขที่แบ่งออกได้ 4 ระยะเอาไว้ว่า... ในช่วงปี 2549-2551 เกิดเวทีสร้างสุขภาคใต้ ในรูปแบบโชว์ แชร์ เชื่อม ถัดมา ระหว่างปี 2552 - 2556 ได้พัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผ่านกลไกระดับจังหวัดและภาค ถัดมาปี 2558-2564 เกิดการบูรณาการงานสร้างสุขภาคใต้ร่วมกับงานสมัชชาสุขภาพ กำหนดวาระสร้างสุขภาคใต้ 4 ประเด็น คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในปี 2565  - ปัจจุบัน เป็นการบูรณาการการทำงาน เน้นพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับท้องถิ่น โดยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม

 

กล่าวอีกด้วยว่า...เมื่อมองแนวโน้มของสถานการณ์สุขภาพในอีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ประกอบไปด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงบริบทสังคม และโครงสร้างประชากร 2.การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตรและเทคโนโลยี 4.การขยายตัวของความเป็นเมือง 5.การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ 6.การเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง 7.การเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบางสถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

 

ซึ่งการคาดการณ์การเสียชีวิตและภาระโรคของคนไทยปี 2573 โดย Burden of Disease Research Program Thailand (BOD Thailand) ระบุว่า จากอดีตที่ผ่านมาโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน และมะเร็งตับ ก็ยังคงยึดครอง 4 อันดับแรกของการเสียชีวิต โดยเกี่ยวข้อกับโรค NCDs ทั้งหมดเช่นเดิม

 

 

 

โจทย์ที่สำคัญด้านสุขภาวะยังคงเป็นเรื่องวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ในความท้าทายต่างๆ นับว่าภาคใต้มีโจทย์ความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการสำรวจพบว่า ในปี 2564 ภาคใต้ ยีง มีอัตราการสูบบุหรี่มากที่สุดในประเทศ และยิ่งต้องระวังภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย

 

ส่วนปัญหา PM2.5 แม้ว่าจะไม่ได้มีปัญหาโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากฝุ่นควันของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งค่อนข้างแก้ไขยาก รวมถึงโจทย์จำเพราะของการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทางเครือข่ายวิชาการภาคใต้จะได้แจกแจงเรื่องนี้อย่างละเอียด และใช้ความเข้าใจจำเพาะของภาคใต้  ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น

 

ในมุมมองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางสุขภาพ ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ได้ทำให้เกิดการแพทย์ที่แม่นยำ ที่เริ่มรักษาโรคโดยใช้แผนที่พันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Mapping) ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มโครงการนี้แล้ว ในอนาคตเราจะมีแผนที่ของตัวเองและจ่ายยาให้ถูกเฉพาะคน จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนด้านสุขภาพล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรคได้ในอนาคต 

 

ขณะที่ สสส. ก็ใช้ BIG DATA ในการทำแอปพลิเคชันร่วมกับสปสช. “Persona Health สื่อเฉพาะคุณ โดยรวมชุดความรู้กว่า 10,000 ชิ้น เน้นเอื้อประชาชนเข้าถึงสื่อสุขภาวะตรงความต้องการ ได้ตลอด 24 ชม. เข้าถึงคนไทยกว่า 48 ล้านคน โดยนำมาจัดกลุ่มให้เหมาะสมกับข้อมูลด้านสุขภาพแต่ละบุคคล เช่น จัดกลุ่มเพศ อายุ ประเด็นสุขภาพ โรคประจำตัว การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งต่อข้อมูลและแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพ และเป็นกลไกสำคัญสู่การดูแลตัวเองในยุคดิจิทัล ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

 

 

 

“...วิถีชีวิตใหม่ ทำให้การดำเนินชีวิตไม่เหมือนเดิม เมื่อเชื้อโรคไม่ใช่จำเลยเบอร์หนึ่ง เราอยู่ในสงครามของจำเลยเบอร์ต้น ๆ คือ การดำเนินชีวิต หลายฝ่ายเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ในหัวของเรา นำความรู้ ความเข้าใจมาสู่ความสนใจของเรา หรือแม้กระทั่งโฆษณาที่คอยชักจูงความสนใจ หรือใช้ กระบวนการสื่อสารใหม่เข้ามาแย่งชิงการรับรู้ของเรา 

 

แต่...สสส.ก็พยายามให้ข้อมูล ความรู้  เพื่อให้ทุกท่านมี Healthy Lifestyle ที่ดี แม้ว่าในสังคมยุคปัจจุบันจะพัฒนาสู่สังคมแยกขั้ว (Polarization) ที่เรามีพฤติกรรม ความสนใจที่ต่างกัน และเป็นอุปสรรคของการสร้างสุขภาพ เราหวังว่าภาคีภาคใต้กว่า 180 โครงการจะทำงานเชื่อมกันในการขับเคลื่อนสุขภาพในหลากหลายประเด็นตามบริบทของพื้นที่ แบบเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ ทำงานแบบเชื่อมถึงกัน”  ดร.สุปรีดา กล่าว ก่อนที่จะเล่าถึงบทบาทของ สสส.ที่มีภาคีเครือข่ายเป็นกลไกสำคัญว่า...

 

...สสส.มองถึงการสนับสนุนให้โครงการฯ ต่าง ๆ ของภาคีเครือข่าย เพื่อให้สามารถจัดการตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกที่มีอยู่เดิมขยายให้มากขึ้น และ หาทางทำให้กลไกที่ออกแบบทั้งหมดอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยฝังในระบบทำงานปกติให้ได้ รวมไปถึงการร่วมทุนกับภาคี (ระดับจังหวัด) เช่น สสส.ร่วมกับ อปท. ซึ่งเกิดพื้นที่ตัวอย่างแล้ว 14 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้คือ สตูล พัทลุง ปัตตานี กระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการดำเนินด้านสร้างเสริมสุขภาพ

 

ถัดมา คือ การบูรณาการกลไกสร้างเสริมสุขภาวะระดับตำบลและอำเภอ เพื่อการจัดการะบบสุขภาพชุมชน และกลไกบูรณาการระดับจังหวัด เช่น การร่วมสนับสนุนทุนเพื่อดำเนินการ กิจกรรมบูรณาการกลไกความร่วมมือ นวัตกรรมทางสังคม เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชาวสุราษฎร์ธานี และร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เกิดการขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อชีวิตแห่งอนาคต “Phuket : Health for Future of Life...

 

สำหรับงานสร้างเสริมสุขภาวะแห่งอนาคตนั้น สสส. ดร.สุปรีดา บอกว่า... หวังให้เกิดการสานพลังภาคีเครือข่าย ชุมชนพื้นที่จัดการตัวเอง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถรองรับบริบททางสังคมที่หลากหลาย เช่น ความหลากหลายทงวัฒนธรรม ประชากร เพศ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และให้ภาคีเครือข่ายตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้ง คนรุ่นใหม่ พัฒนาทักษะ ปัญหาสุขภาวะใหม่ เทคโนโลยี ดิจิทัล สุดท้าย คือนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มปัจจัยเชิงบวก ยับยั้งปัจจัยเชิงลบ สร้างความตระหนักด้านสุขภาวะให้มากขึ้น 

 

หวังว่าภาคีเครือข่ายภาคใต้จะร่วมกันวางแผนที่ร่วมกันและเดินทางไปสู่อนาคตแห่งภาคใต้แห่งความสุขร่วมกัน