กระชับวงล้อมปันความคิด #การบ้านช้างศึกจูเนียร์

 

#การบ้านช้างศึกจูเนียร์

 

*กระชับวงล้อมปันความคิด

 

ภายหลังทัพช้างศึกจูเนียร์อก หักชวดเช้าชิงในรายการชิงแชมป์อาเชียน 2023 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้แฟนลูกหนังหรือคอบอลตัวจริงออกมาสะท้อนมุมมอง เพื่อส่งสัญญาณให้สมาคมลูกหนังต้องทำการบ้านอย่างเร่งด่วน

 

เมื่อกล่าวถึงผลงานของนักเตะชุดนี้ ถึงแม้จะล้างอายด้วยการคว้าตำแหน่งที่ 3 มาได้ก็ตาม แต่หากเจาะลึกลงไปในศักยภาพและโอกาสที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้าดังที่แฟนบอลคาดหวัง และเฝ้ารอพบว่ายังมีจุดอ่อนที่จะต้องปรับจูนและถอดบทเรียนกันพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่นักเตะไม่สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายหรือยืนหนึ่งในย่านอาเชียนในครั้งได้ ถ้าจะส่องหรือวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดหรือแก่นแท้ของเหตุและผล ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ เชื่อว่า ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสมาคมกีฬาลูกหนังคงจะรู้ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดี

 

หนึ่งในปัญหาที่สำคัญ และถือว่าเป็นขวากหนามที่เกาะติดกับทัพช้างศึกทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง คือ การที่ไม่สามารถผนึกพลังนักเตะชั้นแนวหน้าเข้าสู่ทีมได้อย่างครบครัน

 

ต่อกรณีนี้ ปัญหาหรือปมหลักคงสืบเนื่องมาจากการจัดการแข่งขันภายในหรือบอลลีกที่เป็นหนึ่งในกำแพงขวางกั้นและส่งผลให้ทุกสโมสรไม่อาจจะปล่อยตัวนักเตะตัวหลักไปรับใช้ชาติได้

 

ในมิติของบอลลีก หากมองในมุมของคนดูบอล และ หวังผลต่อชื่อเสียงของประเทศ คงจะมีคำถามย้อนกลับมาว่าระหว่างชาติกับสโมสรสิ่งไหนจะสำคัญกว่ากัน

 

แต่ในทางกลับกัน หากเอาใจเขามาใส่ใจเรา ดังที่ทราบกันดีว่า ฟุตบอลอาชีพเป็นเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์ ดังนั้นเมื่อทุกสโมสรต่างทุ่มเทและลงทุนลงแรงภายใต้เม็ดเงินที่สูง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จแน่นอนผลประโยชน์ของสโมสรย่อมเหนือกว่าอื่นใด

 

 

มาถึงตรงนี้ หากจะถามว่า เมื่อทีมชาติประสบกับปัญหา และยังไม่สามารถสะสางได้ สมาคมกีฬาลูกหนังในฐานะเจ้าภาพหรือรัยผิดชอบจะปรับกลยุทธ์และกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาและยกระดับทีมชาติให้บรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างไร

 

การที่ผลงานออกมาไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย และไม่ตอบโจทย์ หากมองในมุมของการบริหารจัดการ แน่นอนสภากรรมการภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่อย่างนายกสมาคม คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบและไม่อาจจะปฏิเสธได้

 

การปรับกระบวนทัศน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ทิศทางอนาคตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามย่อมเป็นสิ่งที่ผู้บริหารตลอดจนสภากรรมการพึงกระทำ

 

ที่น่าสนใจ เมื่อกล่าวถึงการเตรียมการพัฒนาและยกระดับทีมช้างศึกของสมาคมฟุตบอลในวันนี้ จะเห็นได้ว่ารูปแบบและแนวทางของแต่ละชุดยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากนัก

 

ซึ่งจากการเตรียมการ หากสังเกตเกี่ยวในรายละเอียดปลีกย่อย ดูเหมือนว่าจะมีเส้นบาง ๆหรือ ”ความเหลื่อมล้ำ” เล็ก ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ้าง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญและความทุ่มเทระหว่างทีมชุดใหญ่และชุดเล็กเล็ก

 

เค้าลางของความเหลื่อมล้ำที่ว่า อาจจะดูได้จากการที่บรรดานายใหญ่จากสโมสรดังในไทยลีกร่วมกระชับวงล้อมปันความคิด หาทางออกสำหรับเตรียมการของทัพช้างศึกชุดใหญ่ ที่มีคิวรอโม่แข้งในรายการคิงส์คัพ ที่เชียงใหม่ และบอลโลกรอบคัดเลือกช่วงปลายปีนี้

 

ขณะที่ช้างศึกจูเนียร์ ซึ่งมีโปรแกรมในการจะเข้าสู่สมรภูมิการดวลแข้งในเกมลูกหนังระดับเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการชิงแชมป์เอเชียรอบคัดเลือก ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ก็ดี

 

วันนี้สังคมยังไม่เห็นผู้เกี่ยวข้องออกมาแจงให้เห็นถึงการเตรียมการอย่าวเป็นรูปธรรมมากนัก

 

เมื่อกล่าวถึงผู้มีบทบาทกับทีมช้างศึกจูเนียร์ นับแต่ซีเกมส์หรือกัมพูชาเกมส์ที่ผ่านมา จวบจนชิงแชมป์อาเชียน 2023 ที่เพิ่งจบลง หากส่องลงไปจะเห็นได้ว่า มีก็แต่เพียง คุณยุทธนา หยิมการุณ ในฐานะอุปนายกสมาคมฯเท่านั้น ที่ออกมารับหน้าเสื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยว

 

ด้านกุนซือใหญ่ของทีมอย่าง ”โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร กับการเข้ามากุมบังเหงียนช้างศึก U 23 หากจะพิจารณาถึงผลงานสำหรับ 2 ทัวร์นาเมนท์ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์หรืออาเชียน 2023 พบว่า ผลงานยังไม่เข้าเป้าหรือตอบโจทย์อย่างที่ทุกภาคส่วนคาดหวัง

 

ดัวยสภาวการณ์ดังกล่าว เมื่อทีมไม่ประสบความสำเร็จ ครั้นจะปล่อยให้โค้ชและทีมงานต้องตกเป็นแพะและรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ก็คงจะไม่เหมาะนัก

 

แต่ถ้าสมาคมเห็นว่าศึกใหญ่ที่รออยู่อีก2 รายการ มีความสำคัญต่อชื่อเสียงของประเทศและความสุขของคนในชาติ สมาคมต้องเร่งสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ภายใต้ขุมกำลังหรือนักเตะที่ดีที่สุด พอที่จะต่อกรกับนักเตะต่างชาติ

 

และหากเป็นไปได้การ ”เปลี่ยนม้ากลางศึก” ด้วยการดึงศักยภาพของโค้ชที่มีฝีมืออย่าง มาซาทาดะ อิชิอิ อดีตกุนซือปราสาทสายฟ้าบุรีรัมย์ ซึ่งตอนนี้ถูกดึงให้มาทำหน้าที่ประธานพัฒนาเทคนิคช้างศึกชุดใหญ่ มารับหน้าที่ เพื่อกรุยทางไปสู่เฮดโค้ชทีมขาติไทยในอนาคต พร้อมกับผนวกเอาโค้ชหระและทีมงานเข้ามาเป็นผู้ช่วย ก็จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

 

เพียงแต่ว่า ผู้มีอำนาจจะสนใจและกล้าในการตัดสินใจหรือไม่เท่านั้นเอง

 

บทสรุปที่สำคัญ สำหรับการบ้านที่จะพัฒนาให้ช้างศึกจูเนียร์ เป็นความหวังของวงการลูกหนังไทยในอนาคตได้อย่างแท้จริง ก็คงจะอยู่ที่ความกล้าหาญในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจว่า พร้อมที่จะยกเครื่องและผ่าตัดหรือไม่อย่างไร

 

แต่ตราบใดก็ตาม ถ้าสมาคมกีฬาลูกหนังยังปล่อยให้ทีมช้างศึกไม่ว่าชุดใหญ่หรือชุดเล็ก ต้องเผชิญและเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภายใต้วังวนหรือหลุมดำที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้

 

ต่อให้ช้างศึกไทยมีโค้ชยอดฝึมือระดับโลกมารับหน้าเสื่อก็คงจะอยากที่จะเข็นขึ้น

 

แต่เหนืออื่นใดหากทุกภาคส่วนผนึกพลังร่วมภายใต้ความมุ่งมั่นและทุ่มเทในทุกสรรพสิ่งอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ผลกลับพบว่าไม่เป็นดังหวังก็เชื่อว่าแฟนบอลทั่วประเทศคงจะพอรับได้

 

                                          รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage