จากผู้ช่วย ผบ.ตร.สู่ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

จากผู้ช่วย ผบ.ตร.สู่ รัฐมนตรี

ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

เรื่อง: The Momentum Team

ภาพ: ชนิศรา ริมธีระกุล

  

อยู่ดีๆ ชื่อของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ก็โผล่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ในห้วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายก่อนการทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี

 

แต่เดิมนั้น ชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นชื่อของ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ผู้อาวุโสของพรรคเพื่อไทย คาดว่าเพื่อพรรคเพื่อไทยจะยังรั้งกระทรวงศึกษาธิการไว้ได้ และคาดว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะได้โควตา 3 กระทรวง คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวัฒนธรรม

 

ทว่าในสัปดาห์ฝุ่นตลบ การตัดสินใจ ‘แลก’ กระทรวงยังไม่สะเด็ดน้ำ พรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาวะถูกบีบหน้าเขียว จำต้องปล่อยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกรดเอในแง่ ‘งบประมาณ’ แต่เกรดซีในแง่ ‘ภารกิจ’ ไปให้กับพรรคภูมิใจไทย กลายเป็นหัวหน้าใหญ่ของบรรดา ‘ครู’ ทั่วประเทศ

 

ขณะที่ชื่อของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน เดิมนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นการเปลี่ยนตัว ‘ชิดชอบ’ จาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และยังคงมีคดีให้ลุ้นกันวันต่อวัน จากกรณีปกปิดทรัพย์สินที่ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทั้งยังถูกกล่าวหาว่ามี ‘นอมินี’ ถือหุ้น และในห้วงเวลาสุดท้าย ศักดิ์สยาม ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่กระทรวงคมนาคม

 

ถึงที่สุด ตระกูลชิดชอบจึงส่งพี่ชายของศักดิ์สยาม น้องชายของเนวิน ชิดชอบ หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่พรรคภูมิใจไทยตัวจริงนั่งเป็นรัฐมนตรี แม้จะไม่เคยมีประวัติใดๆ เกี่ยวข้องกับการศึกษาเลย…

 

นั่นทำให้ตระกูลชิดชอบ ตระกูลบ้านใหญ่แห่งบุรีรัมย์ มีรัฐมนตรีมากถึง 3 คน และล้วนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน นั่นคือ เนวิน ศักดิ์สยาม และพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ขณะที่ ชัย ชิดชอบ บิดาของทั้งสาม เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างประธานสภาผู้แทนราษฎร

 

ส่วนลูกชายของเนวิน ไชยชนก ชิดชอบ ที่วันนี้เป็น ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เรียบร้อย อาจถึงคิวเป็นรัฐมนตรีในรอบหน้า หากพรรคภูมิใจไทยยังคงได้รับความนิยมในระดับนี้ ในระดับ 70 เสียงขึ้นไป

 

ส่วนเรื่อง ‘ความสามารถ’ นั้น บุคคลอ้างอิงอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งรอบนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แนะนำไว้อย่างดิบดีว่า “ท่านเป็นถึงตำรวจเอก ผมไม่ได้เป็นหมอยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้”

 

กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงเกรดเอ ที่ไม่มีใครอยากได้?

 

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณคิดเป็น 3.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท

 

หากมองจากงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการดูจะเป็นกระทรวงเกรดเอ กระนั้นเอง ในข้อเท็จจริง กว่า 62% ของงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 2 แสนล้านบาท จะถูกใช้ไปกับงบประมาณบุคลากร

 

นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของ ‘งบอุดหนุน’ เพื่อสนับสนุนในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกเป็นก้อนใหญ่ คงเหลือ ‘งบลงทุน’ ราว 5% เท่านั้น ขณะเดียวกัน งบลงทุนยังเป็นการลงทุนในแง่สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ประเภทอาคาร ครุภัณฑ์ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อวางโครงสร้างทางการศึกษาระยะยาว

 

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังมีระบบและโครงสร้างอันสลับซับซ้อน หากกระทรวงอื่นมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนเดียว การกระจายอำนาจด้านการศึกษา ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีข้าราชการเทียบเท่า ซี 11 ถึง 5 คน คือ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬาร จะ ‘กระจายอำนาจ’ ก็ไม่สำเร็จ และจะ ‘รวบอำนาจ’ กลับมาก็ไม่ทันแล้ว

 

เพราะฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีสถานะเกรดซี เพราะรัฐมนตรีแทบเข้าไปยุ่มย่ามกับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วไม่ได้เลย

 

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน และปม ‘วรยุทธ อยู่วิทยา’

 

หากมองในสายงานปกติ พลตำรวจเอกเพิ่มพูนมักจะอยู่นอกบรรดา ‘คดีใหญ่’ ด้วยการเติบโตในเส้นทางของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และสาย ‘จเรตำรวจ’ ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

กระนั้นเอง อยู่ดีๆ ชื่อของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ก็ปรากฏขึ้นในปี 2563 เมื่อเกิดเหตุผิดปกติ มีการอาศัยช่องทางของกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านไปยังช่องทางอัยการสูงสุด เพื่อเปลี่ยนความเร็วรถเฟอร์รารีของ วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทนักธุรกิจดังที่ชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 จาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ชื่อของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน (ขณะนั้นครองยศพลตำรวจโท) ปรากฏในสำนวน เห็นสอดคล้องกับความเห็นอัยการ และพนักงานสอบสวนที่มีข้อมูลใหม่มาหักล้าง ‘ไม่แย้ง’ อัยการ ที่ไม่สั่งฟ้องวรยุทธในข้อหา ‘ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’

 

แม้ถึงที่สุด กระบวนการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะพบความผิดปกติในชั้นพนักงานสอบสวนว่าด้วย ‘พยาน’ เรื่องความเร็วรถที่งอกขึ้นมาใหม่ และการเปลี่ยนความเร็วรถส่งไปยังอัยการ แต่ก็ไม่พบว่าพลตำรวจเอกเพิ่มพูนปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง

 

พลตำรวจเอกเพิ่มพูนเกษียณอายุราชการในปี 2564 และปรากฏชื่ออีกทีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

คาดว่าด้วยนามสกุลแล้ว เก้าอี้ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูนจะเหนียวแน่นในทุกการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างแน่นอน

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage