สอศ. ขับเคลื่อนทวิภาคีคุณภาพสูง สถานประกอบการเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จของอาชีวะ

 

วันที่  21 ก.ย. 2566  ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) มอบหมายให้นายพงศ์ศธร พิมพะนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างความเข้าใจการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กลุ่มสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) และสถานศึกษาภาคกลาง

 

 

โดยมี นายตติย อัครวานิชตระกูล ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายอรรถการ ตฤษณารังสี รองประธานคณะกรรมการการศึกษาสภาหอการค้าไทย นายประพล วิระพรสวรรค์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคใต้ และนายนิสิต พลภักดี หัวหน้าส่วนงานแผนกพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บริษัท พร้อม เทคโน เซอร์วิส จำกัด เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรม ลองบีช ชะอำ จ.เพชรบุรี

 

 

 

นายพงศ์ศธร พิมพะนิตย์  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มุ่งขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง ครอบคลุมทุกจังหวัดผ่านสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด เป็นการขับเคลื่อนร่วมกับสถานศึกษา สถานประกอบการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ในภาคเรียนที่ 1 ในการศึกษา 2567

 

 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการสะท้อนมุมมองการดำเนินงานผ่านการเสวนาของสถานประกอบการที่ได้ดำเนินงานและร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท พร้อม เทคโน เซอร์วิส จำกัด ซึ่งผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุม ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี คือเส้นทางสู่ความสำเร็จของการจัดการอาชีวศึกษา พัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้เป็นคนดี คนเก่ง คนกล้า มี mindset และทัศนคติที่ดี เปิดกว้าง พร้อมรับการเรียนรู้จากสถานประกอบการ ส่งผลให้ผู้เรียนในระบบทวิภาคี เป็นกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง พร้อมเข้าสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้เรียน ให้เห็นถึงข้อดีของการเรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และสิทธิประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากความร่วมมือจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อเพิ่มผู้เรียน และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่ สอศ. ตั้งเป้าหมายไว้

 

โดยสถานประกอบการ ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อ สอศ. และเชื่อว่า สอศ. เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการผลิต เนื่องจากเป็นกำลังหลักในการผลิตคนในสายผลิตให้กับประเทศและเป็นกำลังสำคัญของชาติ