ผู้ช่วยรมว.ศธ.ปลื้มแผนสพฐ.เสนอป้องกัน-ดูแล สุขภาพจิตผู้เรียน ให้ทุกหน่วยงานศึกษาเป็นตัวอย่าง

 

ผู้ช่วยรมว.ศธ.ปลื้มแผนสพฐ.เสนอป้องกัน-ดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน ให้ทุกหน่วยงานศึกษาเป็นตัวอย่าง  

 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษกศธ.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” การจัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต ว่า...

 

ที่ประชุมได้มีการรับฟังการนำเสนอแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ 2568 ของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งมีแผนงานที่เด่นชัด อาทิ

 

โครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัย,

HERO-V ระบบคัดกรองผู้เรียน,

School Health HERO เฝ้าระวังสุขภาพจิตนักเรียน,

ค่ายพลังใจ นักเรียนไทย ล้มได้ ลุกเป็น,

โครงการเด็กไทย Full HD (High ความดี) โรงเรียนแห่งความสุข Happy School Happy Student

 

ซึ่งจะเน้นการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาสุขภาพจิตของผู้เรียน เน้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างค่านิยมในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ผ่านสื่อที่สะดวกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่าย สร้างการรับรู้ การตื่นตัวเกี่ยวกับการบริหารสุขภาพจิตผู้เรียน

 

กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประชุมดังกล่าวยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการดำเนินงานร่วมกันด้านอื่นๆ โดยในฐานะที่ตนเป็นฝ่ายจัดทำนโยบาย จึงเข้าใจถึงข้อจำกัดของแต่ละหน่วย

 

แต่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานภาพการขับเคลื่อนงานได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะสพฐ.วางแนวทางว่า ในปี 2567 จะเดินหน้าปรับปรุงเรื่องใด และในปี 2568 จะสานต่อโครงการต่าง ๆ ด้านการศึกษาในรูปแบบใดบ้าง

 

ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดศธ.นำแนวทางของสพฐ.ไปเป็นแบบอย่างการวางแผนงาน จนเกิดวิธีการและผลสำเร็จ ค้นหาปัญหาทั้งในส่วนของครู นักเรียน และผู้ปกครองให้เจอ แล้วนำประเด็นนี้ไปหารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ช่วยดูในเชิงภาพรวมของกระทรวง

 

อีกทั้ง หาเครื่องมือที่สามารถตรวจเจอกลุ่มคนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แล้วนำกระบวนการมาเริ่มใช้ นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ของ ศธ. ด้วยการบอกสังคมให้ได้รู้ว่า เราจะมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ปลุกสังคมให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพจิตของผู้เรียนและสถานศึกษา สร้างค่านิยมทางการศึกษาร่วมกัน เนื่องจากทุกวันนี้ครูมีภาระงานที่หนักมาก ขณะที่ลูกหลานถูกกดดันจากหลายด้าน

 

นายสิริพงศ์ กล่าวอีกด้วยว่า  อยากให้มีการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ ต้องสร้างความรับรู้กับสังคมให้เกิดการมีส่วนร่วม คิดนอกกรอบในการพัฒนางานให้เข้าใจง่าย เข้าถึงได้หลากหลายช่องทางให้เกิดการรับรู้มากที่สุด สิ่งสำคัญต้องไม่เพิ่มภาระให้ครู และไม่เพิ่มภาระด้านงบประมาณด้วย

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage