คุยกับบรรณาธิการ จัดซื้อครุภัณฑ์ ไทยเข้มแข็ง “เอสพี 2” สอศ.บทเรียนมหาทุจริต ข้ามทศวรรษ” อีกหนึ่งบทเรียนที่ข้าราชการยอมจำนนต่ออำนาจนักการเมือง

จัดซื้อครุภัณฑ์ ไทยเข้มแข็ง “เอสพี 2” สอศ.บทเรียนมหาทุจริต ข้ามทศวรรษ” อีกหนึ่งบทเรียนที่ข้าราชการยอมจำนนต่ออำนาจนักการเมือง

 

จับความตามที่ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึง กรณีที่ ป.ป.ช.ส่งหนังสือมาถึงหน่วยงานในกำกับ ศธ.พิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการที่กระทำความผิดและให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีทุจริตในการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ไทยเข้มแข็ง หรือเอสพี 2 ของ สอศ.ดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 นั้น มีข้าราชการหลายคน อาจจะลืมไปแล้วถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ..

 

เลขาธิการ กอศ.บอกว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างดูรายละเอียด ซึ่งในส่วนของ สอศ. คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะ ป.ป.ช.มีมติมาแล้ว ให้สั่งลงโทษตามฐานความผิดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก ป.ป.ช. ซึ่งทาง สอศ.ได้รับหนังสือแจ้งในช่วงวันที่ 5 ตุลาคม

 

ดังนั้น ก็จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤศจิกายน โดยขณะนี้ ตนมอบหมายให้ฝ่ายนิติกร สอศ.แยกกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่ามีใครบ้างที่เกษียณอายุราชการเกิน 3 ปี ใครที่เกษียณยังไม่เกิน 3 ปี เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษากี่คน และข้าราชการกี่คน ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ต้องส่งรายชื่อไปที่สำนักงานปลัด ศธ. เพื่อนำเข้าที่ประชุม อ.ก.พ.ศธ.พิจารณา

 

ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการทุจริตของ ป.ป.ช.ถ้าเป็นข้าราชการต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและคดีอาญา ซึ่งทุกคน ป.ป.ช.ชี้มูลเกี่ยวกับการทุจริต หน้าที่ของ สอศ.ก็ต้องทำตาม ป.ป.ช.ชี้มูล มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่างๆ ก็ยังเปิดโอกาสให้ ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนยื่นอุทธรณ์ได้ในชั้นศาล ว่าไม่มีเจตนาทุจริตแต่ต้องทำตามหน้าที่

 

ย้อนหลังไล่เรียงเหตุการณ์ผลความคืบหน้าการดำเนินการสอบสวน กรณีทุจริตในการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ไทยเข้มแข็ง หรือเอสพี 2 ของ สอศ.ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 -2566 นั้น ปัจจุบันผ่านเลยยาวนานมากว่า 1 ทศวรรษ สรุปให้เห็นภาพดังนี้...  

 

วันที่ 21 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ให้ผู้ถูกกล่าวหา ในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2) ประจำปีงบประมาณ 2553-2555

 

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ของ ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2)ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 มีจำนวน 17 ราย

 

ระบุข้อกล่าวหา ที่ 6 - 8 และ 11 ร่วมกันกำหนดวงเงินงบประมาณให้กับสถานศึกษา โดยมีเงื่อนไขหัก 1% ของงบประมาณที่ได้รับ สถานศึกษาใดยอมรับจะได้รับการจัดสรรงบตั้งแต่ 30 ล้านบาท จนถึง 99 ล้านบาท

 

หากไม่ยอมรับเงื่อนไขจะได้รับการจัดสรรเพียง 3 แสนบาท จนถึง 2 ล้านบาท

 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3-5 และ 7-17 ทำการติดต่อพ่อค้าให้เข้ามาตกลงเรื่องการจ่ายเงินเปอร์เซ็นต์ รวม 30% โดยเม็ดเงินทั้งหมดผู้ถูกกล่าวหาที่ 3-5 จะรวบรวมนำส่งให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-2 และแบ่งให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 6

 

ขณะนั้น อยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 17 ราย จึงยังถูกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

 

 

เมื่อ วันที่ 23 ส.ค. 55 กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีการทุจริตในการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ไทยเข้มแข็ง หรือเอสพี 2 ของ สอศ.ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา วงเงิน 5,300 ล้านบาท เป็นคดีพิเศษ พบมีนักการเมืองบางคนน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

 

ซึ่ง น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาให้ถ้อยคำในฐานะพยาน กรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วงเงิน 5,300 ล้านบาท ซึงเป็นช่วงที่ น.ส.ศศิธารา ชวาลตันพิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 

 

เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษแล้ว จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า... โครงการเอสพี 2 มีความผิดปกติใน 5 ประเด็นหลักที่ต้องตรวจสอบ คือ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อมีราคาสูงเกินจริงหรือไม่, ครุภัณฑ์ที่จัดส่งให้กับวิทยาลัยเป็นครุภัณฑ์ที่วิทยาลัยขอไปหรือไม่,  วิทยาลัยมีการเปิดสอนในสาขาที่ครุภัณฑ์ดังกล่าวจัดส่งไปหรือไม่,  การตรวจรับพัสดุถูกต้องตามคุณลักษณะที่กำหนด และ บริษัทคู่สัญญามีการสมยอมในการเสนอราคาหรือไม่

 

โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามทุจริตภาครัฐตรวจสอบ หากเป็นบริษัทเอกชนจะส่งฟ้องกับอัยการทันที ซึ่งขณะนี้มีความผิดปกติในการจัดซื้อและตรวจรับอย่างแน่นอน

 

สำหรับการทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ครั้งนี้นั้น อยู่ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ไทยเข็มแข็ง มีงบประมาณ 5300 ล้านบาท มีสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง 415 แห่ง และมีรายการครุภัณฑ์ที่จัดซื้อมากกว่า 100 รายการ

 

ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาครุภัณฑ์ที่จัดส่งไปตามวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่มีในรายวิชาที่เปิดสอน และบางชิ้นมีราคาแพงเกินจริง นอกจากกนี้ จากการตรวจสอบพบนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

 

ต่อมาวันที่ 12 พ.ย. 2555 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ เรียก นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนอาชีวศึกษา และ นายบำรุง อร่ามเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ชี้แจง กรณีจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา

 

ชั้นต้น ดีเอสไอ พบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันทุจริตการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา ทั้งการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิด เป็นคณะกรรมการจัดหาครุภัณฑ์ จัดซื้อราคาแพงเกินจริง ไม่เป็นไปตามสัญญา ไม่สำรวจความต้องการของสถานศึกษา และ ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พุทธศักราช 2542 และกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พุทธศักราช 2535 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

 

เรื่องราวผ่านพ้นไปอีก 11 ปี เมื่อวันศุกร์ ที่ 23 มิถุนายน 2566 นาย นิวัติไชย เกษมมงคล' เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันมติที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพวก ในคดีโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง (SP.2) ประจำปีงบประมาณ 2553-2555 ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จริง ขณะนั้นอยู่ระหว่างรอส่งสำนวนไต่สวน พยานเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องร้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย

 

โดยข้อกล่าวหาในส่วนนางสาวนริศรา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอส่งสำนวนไต่สวน พยานเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องร้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย

 

เมื่อถามว่า ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่ถูกชี้มูลด้วยมีจำนวนมากถึงหลักร้อยคนหรือไม่ นายนิวัติไชย ตอบว่า "น่าจะถึง" มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน แต่ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดด้วยจำนวนกี่ราย

 

อย่างไรก็ดี  เกี่ยวกับคดีนี้ การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในรายละเอียดในคำตอบจาก เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ข้างต้น หลังจากทาง สอศ.ได้รับหนังสือแจ้งจาก ป.ป.ช. ในช่วงวันที่ 5 ตุลาคม สั่งลงโทษข้าราชการตามฐานความผิดภายใน 30 วัน นั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าว

 

ซึ่งสังคมรอดูอยู่ว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ ไทยเข้มแข็ง “เอสพี 2” สอศ.มหาทุจริต ข้ามทศวรรษ” จะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ข้าราชการประจำ จะยอมจำนนต่ออำนาจนักการเมืองที่เข้ามากำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ที่พยายามหาโครงการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยอ้างเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อคุณภาพการเรียนสอน ในยุค 4.0 เพื่อครูและเด็กอีกหรือไม่อย่างไร

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage