องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎร-เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก

 

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.20 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ณ ฐานปฏิบัติการเอกราช กองร้อย ตชด. 315 ตั้งอยู่บ้านร่มเกล้า – บ้านสงบสุข ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

 

 

โดยมีผู้แทนตำรวจตระเวนชายแดน จากฐานปฏิบัติการเอกราช ฐานปฏิบัติการอธิปไตย และฐานปฏิบัติการภูสอยดาว และเจ้าหน้าที่ทหารจากศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับมอบถุงพระราชทาน

 

โอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี  ไปกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทั้งนี้ องคมนตรี ได้พูดคุยให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกัน รักษาความสงบสุขให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ ต่อไป

 

 

จากนั้น องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 40 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 160 ถุง และผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 90 ถุง โอกาสนี้ องคมนตรี ได้พบปะพูดคุยเยี่ยมเยียนราษฎร รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมกับเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์ด้านต่าง ๆ

 

 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรการดำเนินงานศูนย์ศิลปาชีพภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ทรงห่วงใยสภาพป่าที่เสื่อมโทรม มีการบุกรุกทำลายป่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกิน  ความเป็นอยู่ของราษฎรที่ยากจนและขาดความรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้อง จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยมีสำนักงาน กปร. สนับสนุนงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ราษฎรเรียนรู้การทำเกษตรแผนใหม่ที่ถูกต้อง ควบคู่กับการอนุรักษ์ดินและระบบนิเวศน์ของป่าไม้บนพื้นที่สูงรวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำ นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานราษฎรในพื้นที่โครงการ ซึ่งนอกจากจะมีรายได้จากการรับจ้างแล้วขณะเดียวกันก็จะได้รับความรู้ในการทำเกษตรที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งราษฎรสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

 

 

ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ สามารถฟื้นฟูป่า รักษาระบบนิเวศน์ต้นน้ำกลับคืนสู่สภาพความสมบูรณ์ ราษฎรมีความรู้และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์รักษาป่าไม้ ไม่มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า สามารถใช้ที่ดินที่มีอย่างจำกัดให้เกิดผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภค มีความรู้ในการทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี และร่วมกันจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค มีจำนวนสมาชิก 23 ราย ทำให้สามารถยกระดับรายได้ที่สูงขึ้นส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน