“ธนุ” ย้ำ ร่างเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ไม่ได้รื้อเกณฑ์ ประเมิน ว PA เพิ่มทางเลือกเป็นไปตามสภาพจริง

 

 

“ธนุ” ย้ำ ร่างเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ไม่ได้รื้อเกณฑ์

ประเมิน ว PA เพิ่มทางเลือกเป็นไปตามสภาพจริง

 

วันที่ 8 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงาน  ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า...

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พิจารณาปรับเปลี่ยนการประเมินวิทยะฐานะ ตามโจทย์นโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้เน้นการประเมินที่เป็นไปตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ลดขั้นตอนการประเมินไม่ซ้ำซ้อน ไม่ยุ่งยาก และเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัยเป็นสำคัญ

 

 

ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษา สอดคล้องกับผู้เรียนที่หลากหลาย และไม่เป็นการสร้างภาระแก่ครูมากเกินไป โดยเฉพาะการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ลดขั้นตอนและมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการใช้เกณฑ์การประเมินรูปแบบเดียวกับครูทั้งประเทศ คือ การประเมิน ว PA (Performance Agreement) คือ การประเมินผลการปฏิบัติงานโดยการทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน ซึ่ง สพฐ. ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย พบว่า

 

ต้องการให้มีการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้หลากหลายมากขึ้น เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง หลายบริบท เพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงครู มีความต้องการเลือกใช้รูปแบบการประเมินที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุและความถนัด ที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ ครูมีหลายกลุ่มอายุ ทั้งกลุ่มครูรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และครูกลุ่มที่มีประสบการณ์นาน อายุ 50 ปี ขึ้นไป

 

ดังนั้น ถ้าจะให้การประเมินวิทยฐานะสะท้อนการทำงานของครูและตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน ก็ควรจะให้มีการประเมินที่หลากหลาย ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเรียนดี มีความสุข สดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษา

 

ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ สพฐ. ตั้งทีมขึ้นมายกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ. พิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. ให้ความเห็นชอบ

 

 

ทั้งนี้ก่อนการดำเนินการ สพฐ.ได้สอบถามผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียหลายพื้นที่ ซึ่งผู้นำครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ควรจะมีช่องทางการประเมินวิทยฐานะที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการศธ. คือ ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยมีรูปแบบวิธีการประเมินที่หลากหลายมากกว่าเดิม เน้นตามบริบทของพื้นที่ ที่มีทั้งโรงเรียนในเมือง โรงเรียนในชนบท โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล บนดอย ภูเขาสูง เกาะแก่ง ซึ่งบางแห่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง บางโรงเรียนยังใช้โซลาร์เซลล์ เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่า การให้โรงเรียนที่อยู่ในเมืองประเมินแข่งกับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ตั้งอยู่ตามชายขอบ ก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม

 

“สพฐ. ไม่ได้รื้อเกณฑ์ประเมิน ว PA เพราะเป็นเกณฑ์ประเมินที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้มีความหลากหลายตามบริบทของโรงเรียน และบริบทของครูผู้สอน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) ไปตั้งคณะทำงานวิเคราะห์เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มครูแต่ละกลุ่ม” ว่าที่ร้อยตรีธนุ แจง

 

กล่าวอีกด้วยว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของครูส่วนใหญ่พบว่า อยากให้เพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะ เช่น กลุ่มครูที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจำนวนมากอยากได้ ว13 กลับมา หรือกลุ่มที่ไม่เก่งการทำคลิปวิดีโอประกอบการสอนก็อยากได้การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์แทน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ในฐานะที่ สพฐ. เป็นหน่วยงานกลาง เมื่อได้รับฟังเสียงสะท้อนจากครู ได้นำมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้แก่ครูในแต่ละบริบท ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดภาระครูและเป็นขวัญกำลังใจครูได้อย่างแท้จริง

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage