ม.ราชภัฏนครราชสีมาทำงานเชิงรุก แนะ 4 Smart เป็นกรอบขับเคลื่อนทำงานท้องถิ่น

 

ม.ราชภัฏนครราชสีมาทำงานเชิงรุก แนะ 4 Smart เป็นกรอบขับเคลื่อนทำงานท้องถิ่น 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ชคัตตรัย รยะสวัสดิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวถึงการพัฒนาท้องถิ่นในปัจจุบันว่า ที่ผ่านมา การทำงานของท้องถิ่นมีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยในระดับท้องถิ่นเน้นแนวทางในการสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและเป็นระบบโดยเฉพาะการสื่อสารมีความสำคัญที่ต้องเชื่อมโยงกันจากบนลงล่างและสื่อสารซึ่งกันและกันในระนาบเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะเดียวกันการปรับปรุงสายการบังคับบัญชาในท้องถิ่นสำหรับการเผชิญสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงควรมีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน โดยควรเร่งส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงการบริการสุขภาพของประชาชนโดยส่วนใหญ่ รวมถึงสร้างระบบที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกับประชาชนให้เกิดการสื่อสารและรับฟังกันมากขึ้น

 

นอกจากนี้ท้องถิ่นควรเร่งปฏิรูปแพลตฟอร์มออนไลน์ โครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นควรมุ่งผลักดันการพัฒนาวิสาหกิจการท่องเที่ยวชุมชนวิถีใหม่เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คน และแนวทางการพึ่งพาตนเองตามแนวทางพระราชดำริเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนเร่งพัฒนาคนในชุมชนให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และท้องถิ่นควรพัฒนาด้านการให้บริการประชาชนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

 

รองอธิการบดี กล่าวด้วยว่าแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคตมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนคือ Scale หรือขนาดของพื้นที่ ควรวางระดับของการพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับรูปแบบการกระจายอำนาจ  ดังนั้น Scale ที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับตำบล เพื่อสอดคล้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ เทศบาลตำบล เป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่ขับเคลื่อนภารกิจ Technology หรือ Innovation ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม Context หรือ บริบทของพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันไป เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่นหนึ่งอาจไม่เหมาะสมกับอีกท้องถิ่นหนึ่งก็ได้ ซึ่งการเข้าใจ เข้าถึงในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญของการนำเทคโนโลยี มาปรับใช้เพื่อการพัฒนา

 

ดังนั้น แนวทางการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ การขับเคลื่อนตำบลในรูปแบบ Smart Tambon Model ซึ่งประกอบด้วย Smart Citizen ท้องถิ่นต้องสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้(Learning Space) ต้องส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) Smart Economy ท้องถิ่นนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร หรือ ภาคค้าส่งค้าปลีก ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ Smart Living ท้องถิ่นต้องมุ่งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ด้วยการส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพ เพื่อให้ทราบถึงภาวะสุขภาพของคนในท้องถิ่น

 

รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อแจ้งเตือนสภาพอากาศ เช่น ฝุ่น PM2.5 เป็นต้น Smart Governance ท้องถิ่นต้องมุ่งสู่องค์กรแห่งความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ผ่านการรายงานข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วและทันเหตุการณ์ “กรอบใหญ่ในการพัฒนาท้องถิ่น คือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก โลคัลสู่เลอค่า เสริมสร้างพลังสังคม กระจายความเจริญ ดึงคนกลับมาพัฒนาท้องถิ่น”

 

โดยมีมาตรการเร่งด่วน 10 มาตรการ คือ

1. เพิ่มงบประมาณ ลงสู่ท้องถิ่นที่โปร่งใสในทุกระดับให้มากขึ้น

2. สร้างระบบตรวจสอบ การใช้งบประมาณของท้องถิ่น โดยภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

3. ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เข้าสู่มาตรฐานสากลและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

4. ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น อย่างต่ำ 2 เท่า ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแม่นยำและนโยบายของรัฐ

5. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปพร้อมกับการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลเพื่อยังคงความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม

6. ยกระดับคุณภาพชีวิต ของชนบทด้วยสวัสดิการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบัตรทองให้มีสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้นหรือการเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ

7.  ลดภาระค่าครองชีพ ด้วยการปรับลดค่าสาธารณูปโภค เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า แก๊สหุงต้มทันที

8. จัดหาที่ทำกิน สำหรับเกษตรกรให้มากขึ้นพร้อมกับพัฒนาการเกษตรนอกระบบชลประทานให้ท้องถิ่น

9. ผลักดันให้อุตสาหกรรมลงสู่พื้นที่ ต่างจังหวัดให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มการจ้างงานและการกระจายรายได้

10. สร้างความเข้มแข็งให้ SME ด้วยมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐ ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี SME และลดหย่อยภาษีให้ธุรกิจที่ซื้อสินค้าจาก SME

 

 #กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage