“มหกรรมวิชาการระดับชาติ สายสนับสนุนอุดมศึกษา เปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล” เตรียมพร้อมผู้นำนวัตกรรมใหม่

 

“มหกรรมวิชาการระดับชาติ สายสนับสนุนอุดมศึกษา

เปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล” เตรียมพร้อมผู้นำนวัตกรรมใหม่

 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเปิดงานมหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับชาติ ของบุคลากรสายสนับสนุนใน ทั่วประเทศ ครั้งที่ 6 ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ อาคาร SC3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 

ภายใต้ชื่อ เปลี่ยนผ่านเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล (Transform with Digital Transformations)" เปิดโอกาสให้มีการเเลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนางานประจำ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และคู่มือการปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และครบรอบ 30 ปี 

 

โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการและโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเรวัต รัตนกาญจน์ ประธานที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) นายเสริม กัลยารัตน์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะอาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัย เข้าร่วม

 

 

 

 

นางสาวสุชาดา กล่าวว่า กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่ดูแล 2 ขาหลัก ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ นั่นคือ ระบบการอุดมศึกษา หรือ Higher Education และระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา กว่า 154 แห่ง และกำกับดูแลหน่วยงานและสถาบันวิจัยอีกกว่า 20 แห่ง ภายใต้แนวความคิดหลักที่ว่า “การอุดมศึกษาไม่ควรแยกกับวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่ควรจะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน” และทั้ง 2 ขานี้จะนำพาประเทศไทยเดินหน้าไปสู่อนาคตของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้

 

กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของการศึกษา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการศึกษาและสร้างกำลังคนรูปแบบใหม่ ที่มีความรู้และทักษะเพื่อทำงานใน ภาคผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาคนให้มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถคิดวิเคราะห์เลือกใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคมมีความสุข ซึ่งนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

 

นโยบายสำคัญของกระทรวง อว. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง.อว ได้เน้นย้ำเสมอ จะมุ่งเน้นในหลายมิติ มิติด้านการอุดมศึกษาจะมุ่งเรื่องการ "เรียนดี มีความสุข มีรายได้" ยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง โดยมีหัวใจสำคัญของนโยบายใน 3 ส่วน คือ

 

ส่วนที่ 1 การจัดให้มีแพลตฟอร์มเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมสนับสนุนให้มีรายได้ระหว่างเรียน

 

ส่วนที่ 2 คือ การลดภาระของอาจารย์ผู้สอนทำให้สามารถทำงานได้คล่องตัว ปรับการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ โดยเพิ่มน้ำหนักการประเมินเรื่องความสามารถและความสำเร็จของนักศึกษา กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

 

ส่วนที่ 3 คือ การสานต่อและผลักดันการศึกษาของไทยให้มีความเป็นเลิศตามความถนัดของมหาวิทยาลัย ผ่านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) มิติด้านการวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปขับเคลื่อนและผลักดันสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตรงตามโจทย์นโยบายสำคัญของกระทรวง อว.

 

อีกด้าน นั่นคือ "วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ" เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งต้องพึ่งพาข้อมูล ความรู้ และวิทยาการด้วยอย่างมาก โดย อว. จะเน้นหลักการสำคัญ คือ "เอกชนนำ รัฐสนับสนุน" โดยให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของ อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง“ นางสาวสุชาดา กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage