สสส. เปิดเวที “คิดดีไอดอล” โชว์ผลงานนวัตกรรมสุขภาพฝีมือเด็กไทย นำร่องบรรจุหลักสูตร มทร.ศรีวิชัย มุ่งขยายผลเยาวชนใช้สื่อปลอดภัย 10 จังหวัด

 

สสส. สานพลัง ภาคีคิดดีไอดอล เปิดเวทีผลงานเด่น “นักสื่อสารสุขภาวะ” โชว์นวัตกรรมสุขภาพฝีมือเด็กไทย บอร์ดเกม-ไพ่ทาโร่ต์สุขภาพจิต-เกมพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์-สื่อพนันออนไลน์ ร่วม มทร.ศรีวิชัย บรรจุหลักสูตรคิดดีไอดอล หวังขยายผลเยาวชนใช้สื่อปลอดภัย-สร้างสรรค์ 10 จังหวัด 3 ภูมิภาค

 

 

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) อ.เมือง จ.สงขลา นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “สสส. มุ่งพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะและสุขภาวะทางปัญญา ยกระดับนักสื่อสารสุขภาวะสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติในการปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมสุขภาวะในระดับพื้นที่ การลงพื้นที่กิจกรรมหนุนเสริมการสร้างนิเวศสื่อสร้างสรรค์ร่วมกับเครือข่าย และเวทีถอดบทเรียนและนำเสนอผลงานเด่น Show case พร้อมสานพลัง และภาคีเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ พัฒนาหลักสูตรคิดดีไอดอล นำร่องบรรจุในการเรียนการสอนของ มทร.ศรีวิชัย จ.สงขลา มุ่งเป้าพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะใน 10 จังหวัด 3 ภูมิภาค”

 

 โครงการคิดดีไอดอล ดำเนินการครบรอบ 7 ปี โดยศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่ผ่านมา เปิดรับเยาวชนนักสร้างสรรค์สื่อใน 10 จังหวัด 3 ภูมิภาค สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เพชรบูรณ์ อุดรธานี บุรีรัมย์ เน้นสร้างพลังคนรุ่นใหม่ใช้สื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พัฒนานวัตกรรมสื่อสารสุขภาวะที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย และตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพคนรุ่นใหม่ การลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายคิดดีไอดอล ที่สะท้อนผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสและทางเลือกให้คนรุ่นใหม่ใช้สื่อและองค์ความรู้อย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้สุขภาพอย่างยั่งยืน” นางญาณี กล่าว

 

 

 

ผศ.ปิยะ ประสงค์จันทร์ รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า “มทร.ศรีวิชัย มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะ ผ่านการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดี พร้อมร่วมเปิดพื้นที่ปฏิบัติการเรียนรู้ศูนย์บ่มเพาะนักสื่อสารสุขภาวะ สู่นักปฏิบัติการทางสังคมที่มีคุณภาพ การนำหลักสูตรคิดดีไอดอล บรรจุในการเรียนการสอน มุ่งพัฒนานักศึกษาให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีทักษะเท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล พร้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะทางปัญญา ที่เกื้อกูลสังคม เป็นโอกาสดีในการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ก้าวทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของนักสื่อสารสุขภาวะ”

 

 

 

นายฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการคิดดีไอดอล สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า “หลักสูตรคิดดีไอดอล เป็นการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ อายุ 16-24 ปี เข้าร่วมกระบวนการ Hackathon 4Health พัฒนานวัตรรมแพลตฟอร์มสื่อสุขภาวะที่เยาวชนสนใจ สอดคล้องกับปัญหาบริบทของพื้นที่ ที่ผ่านมา 19 พื้นที่ มีผู้เข้าร่วม 73 ทีม 1,132 คน ร่วมวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ นำไปสู่การสร้างสรรค์สื่อสุขภาวะผ่านการจัดกิจกรรมที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การยกระดับเป็นแกนนำนักสื่อสารสุขภาวะคนรุ่นใหม่ 186 คน และขยายผลแก่ผู้รับประโยชน์ผ่านสังคมออนไลน์ อายุ 10-25 ปี กว่า 1,450 คน ผ่านนวัตกรรมสุขภาพที่ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง 4 มิติ อาทิ บอร์ดเกมสุขภาพจิต จากกลุ่มสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ไพ่ทาโร่ต์สุขภาพจิต จากชมรมเพาะกล้า มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง เกมพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ จากกลุ่ม KPAOS รร.อบจ.กระบี่ สื่อการเรียนรู้พนันออนไลน์ จากกลุ่มห้ากุมาร มทร.ศรีวิชัย จ.สงขลา ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Kiddeeidol