ธนุ." เร่งช่วยเหลือเยียวยา ภารโรงไฟไหม้บ้านพัก ในร.ร.ลูก 2 คนดับในกองเพลิง สุดเศร้า

 

ธนุ." เร่งช่วยเหลือเยียวยา ภารโรงไฟไหม้บ้านพักในร.ร.ลูก 2 คนดับในกองเพลิง สุดเศร้า   

 

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับทราบประเด็นดังกล่าวแล้ว ได้มอบหมายศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. พร้อมด้วยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวว่า

 

เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 08.30 น. ผู้ประสบเหตุประกอบด้วย เด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.3 เด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.1 และเด็กนักเรียนชาย ชั้นอนุบาล 2 ของโรงเรียนดังกล่าว โดยได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้าน ซึ่งเป็นบ้านพักนักการภารโรงที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียน

 

ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าวต่อว่า โดยเด็กหญิง ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ (ออทิสติก) ชั้น ป.3 และเด็กชาย ชั้นอนุบาล 2 เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สาเหตุเกิดจาก เด็กหญิง ชั้น ป.3 ได้นำไฟแช็กมาจุดเล่น ทำให้เกิดประกายไฟไหม้ติดมุ้ง และลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนเด็กหญิง ชั้น ป.1 ที่รอดชีวิต ได้กระโดดหนีออกจากบ้านลงมาได้ทัน โดยเด็กทั้ง 3 คน เป็นลูกของภรรยานักการภารโรง เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ และทั้งหมดอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านพักหลังดังกล่าว

 

ทันทีที่เกิดเหตุ ทางโรงเรียนได้ประสานหน่วยดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลือดับไฟไหม้ และ สพป.สุโขทัย เขต 2 ได้ให้คำแนะนำช่วยประสานด้านสวัสดิการของนักเรียนที่เสียชีวิต และประสานหน่วยงานในพื้นที่ ทั้ง อบต. ชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน จัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับครอบครัวนักการภารโรงและเด็กที่ประสบเหตุ และมอบเงินจากกองทุนสวัสดิการเด็กพิการ ยากจน ด้อยโอกาส เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น

 

“จากเหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดย พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยในความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักเรียน แม้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดระหว่างการจัดการเรียนการสอน แต่เป็นเหตุที่เกิดกับบ้านพักนักการภารโรงที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียน

 

จึงกำชับให้สถานศึกษามีความระมัดระวัง ตรวจตราอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนให้ถี่ถ้วนอยู่เสมอ ซึ่งไม่เพียงแต่อาคารเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงอาคารและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายในรั้วโรงเรียนด้วย เพราะอยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน พร้อมทั้งฝึกทักษะให้นักเรียนได้เรียนรู้การเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดเหตุอันตรายขึ้น รวมทั้งโรงเรียนต้องมีแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้

 

ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ก็ต้องติดตาม กำกับ ดูแล ให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษาด้วย เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่าย ต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือกัน

 

ทั้งนี้ สพฐ.ได้ส่งนักจิตวิทยาโรงเรียนไปดูแลจิตใจน้องนักเรียนที่รอดชีวิต ดำเนินการจัดหาที่อยู่ให้แก่ครอบครัวนักการภารโรงหรือสร้างบ้านพักใหม่เป็นลำดับต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage