จ่อเอาผิด "ยศพล เลขาอาชีวะ" ขัดนโยบายปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ คืนตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัย รีดเงินผู้รับเหมา ทั้ง ๆ เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา

 

จ่อเอาผิด "ยศพล เลขาอาชีวะ" ขัดนโยบายปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ คืนตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัย รีดเงินผู้รับเหมา ทั้ง ๆ เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา     

 

...อาจเป็นช่องทางให้ข้าราชการที่ไม่ดีใช้อำนาจเงิน เป็นเครื่องมือซื้อขายตำแหน่งสูงขึ้นหรือไม่ ไปสร้างอิทธิพลให้ไม่ถูกลงโทษทางวินัย ละเว้นไม่รักษากฎ ระเบียบในการบริหารงานบุคคล ทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง เสมือนส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจและตำแหน่งหน้าที่ ในการกระทำการทุจริตกัน จนยากที่จะแก้ไข ขจัดคนทุจริตและประพฤติมิชอบในที่สุด...

ที่มา : นางสาวประภัสสร ม่วงทิพย์ ผู้รับเหมาโครงการปรับปรุงโรงอาหารในวิทยาลัย

 

กลายเป็นประเด็นที่ร้อนฉ่าในแวดวงการศึกษาที่ต้องตามติดเรื่องราวอื้อฉาว ประเด็น นางสาวประภัสสร ม่วงทิพย์ ผู้รับเหมาโครงการปรับปรุงโรงอาหารในวิทยาลัย ร้องกับทาง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐาน ถูกผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะฯ แห่งหนึ่งย่านปทุมธานี เรียกรับเงินสินบนแลกกับการได้งานก่อนจะมีการนัดให้ไปพบกับ ผอ.คนดังกล่าว โดยติดกล้องเพื่อพิสูจน์พฤติกรรมว่าจริงหรือไม่

 

ปรากฏว่า ได้หลักฐานชัดเจน แล้วนำไปสู่การส่งเรื่องให้สอบสวนความผิดทางวินัยและอาญา

 

ซึ่งคลิปวีดีโอนี้ ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 เป็นภาพเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เขต 1 และตำรวจภูธรธัญบุรี แสดงตัวเข้าจับกุมผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี

 

ในรายงานของเจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้อำนวยการรายนี้ เรียกรับเงินสินบนจำนวน 4 หมื่นบาท จากนางสาวประภัสสร ม่วงทิพย์ ผู้รับเหมาโครงการปรับปรุงโรงอาหารในวิทยาลัย เพื่อแลกกับการจ่ายเช็กค่าก่อสร้างที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนบาท

 

นางสาวประภัสสร ยอมจ่ายเงินส่วนหนึ่ง แต่ก็ได้ตัดสินใจร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ ปปท. เพื่อรวบรวมหลักฐาน การบันทึกเสียงต่อรองจำนวนเงิน จนสามารถจับกุมผู้อำนวยการรายนี้ได้ในทีสุด

 

หลังการจับกุม ป.ป.ท. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ดำเนินการ 2 แนวทาง คือ

ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาตั้งกรรมการสอบสวนวินัย

ในส่วนคดีอาญาส่งกลับให้ตำรวจภูธรธัญบุรีดำเนินคดี

 

โดย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ สั่งพักราชการและสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยมีคำสั่งสำนักงานอาชีวะ ที่  584/2566 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ให้พักราชการ นายเพชรโยธิน ราษฎรเจริญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี ขณะนั้น 

 

เพราะเหตุตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ความผิดฐานเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการตรวจรับงานจ้าง และสั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าจ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ป.ป.ช ตำรวจ ลงพื้นที่จับกุมได้พร้อมเงินสดที่ห้องทำงาน

 

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย แต่ระหว่างการสอบสวนด้านวินัย มีชายคนหนึ่งติดต่อมา ขอเจรจาให้นางสาวประภัสสร กลับคำให้การเพื่อให้การสอบสวนวินัยไม่รุนแรง แลกกับการเสนอเงินตอบแทนให้ 2 แสนบาท

 

แต่ไม่คิดว่าผ่านมาเกือบปี คดีกลับพลิก และสิ่งที่ทำให้เธอเกิดความกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย คือ ผอ.ขู่จะฟ้องกลับ 

 

นางสาวประภัสสร เริ่มเห็นความผิดปกติ พยายามสอบถามความคืบหน้าทั้งเรื่องผลสอบวินัย และคดีอาญา แต่ทุกครั้งก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน เธอจึงส่งเอกสารสารร้องเรียนคณะกรรมการสอบสวนวินัยของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมหลักฐานคลิปเสียงการสนทนารวม 6 ไฟล์ และไปร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรม

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เธอยังได้รับหมายศาล แจ้งดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากคณะกรรมการสอบสวนวินัย โดยใช้หลักฐานที่เธอส่งไปร้องเรียน นำกลับมาดำเนินคดีเธอแทน

 

ล่าสุดเธอพบว่า ผู้อำนวยการรายนี้ กลับมารับราชการในตำแหน่งเดิมแล้ว แต่ผลสอบวินัยกลับยังไม่ถูกเปิดเผยจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือแจ้งกลับไปที่หน่วยงานเช่น ปปท. หรือ ปปช. อีกด้วย

 

กระทั่งเมื่อ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ๑ ภาค ๑ ได้ยื่นฟ้องนายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๑ ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนและเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 149 และ157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

 

ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องไว้แล้ว ปรากฎตามหนังสือสำนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต ๑ ภาค ๑ ด่วนที่สุดที่ อส.0041(ปทภ ๑.๑)/217 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2567 แจ้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาตามที่ร้องขอ รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือ

 

ดังนั้น นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ จึงตกเป็นจำเลยคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท ๓๑/๒๕๖๗ โดยสมบูรณ์ และยังถือได้ว่า คำสั่งพักราชการยังมีผลสมบูรณ์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน เว้นแต่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเท่านั้น 

 

 

 

แต่ปรากฏพบว่า นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คนปัจจุบัน กลับออกคำสั่งให้ นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ มาปฎิบัติราชการอีกครั้งที่วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี ตั้งแต่ วันที่ 19 มีนาคม 2567

 

และิเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ ได้ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัย โดยเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาตามระเบียบวาระ

 

และ นายยศพล เวณุโกเศศ ได้ออกคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ 553/2567 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2567 อีกครั้ง ให้ย้ายและแต่งตั้งให้ นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน  2567 วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ รับเงินเดือนๆ ละ 58,430 บาท รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 5,600 บาท ดังรายละเอียดปรากฎตามเอกสาร

 

ส่งผลให้ นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ เข้ามาปฎิบัติราชการในขณะทีถูกสั่งพักราชการ อาจได้รับสิทธิประโยชน์ รับเงินเดือนและค่าตอบแทนย้อนหลัง ตั้งแต่เดือน เมษายน 2566 ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 42,140 บาท เป็นเดือนละ 58,430 บาท และ ค่าตอบแทนวิทยฐานะเดือนละ 5,600 บาท โดยมิชอบด้วยระเบียบ ขัดต่อนโยบายในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการหรือไม่

 

จึงอาจเป็นช่องทางให้ข้าราชการที่ไม่ดีใช้อำนาจเงิน เป็นเครื่องมือซื้อขายตำแหน่งสูงขึ้นหรือไม่ ไปสร้างอิทธิพลให้ไม่ถูกลงโทษทางวินัย ละเว้นไม่รักษากฎ ระเบียบในการบริหารงานบุคคล ทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง เสมือนส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจและตำแหน่งหน้าที่ ในการกระทำการทุจริตกัน จนยากที่จะแก้ไขขจัดคนทุจริตและประพฤติมิชอบในที่สุด

 

นางประภัสสร ม่วงทิพย์ ระบุในหนังสือร้องเรียนสงสัยว่า นายยศพล เวณุโกเศศ นอกจากมีความสนิทสนมกับนายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ เป็นการส่วนตัว และยังเคยเห็นชอบตามที่ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ให้ความเห็นว่า ไม่มีมูลความผิดฐานรับเงินสินบนที่ถูก ตำรวจ ปปท.ป.ป.ช. บุกจับคาห้องทำงานในครั้งนั้น

 

ทั้ง ๆ ที่ การจับกุม เจ้าหน้าพบเงินจำนวนหนึ่งในโต๊ะทำงาน มีการระบุของคณะกรรมการสอบสวนฯว่า เป็นเงินที่นางประภัสสร บริจาคเข้ามา

 

และ ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ เคยลงนามออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพักราชการ ระหว่างสอบสวนวินัยร้ายแรงและสั่งให้ นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ กลับมาปฎิบัติราชการมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง

 

และครั้งนี้ การออกคำสั่งจึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นต่างตอบแทนกันอีกครั้งหรือไม่ จึงขอให้ตรวจสอบถึงการออกคำสั่งโดยมิชอบ ของ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่า เป็นการปฎิบัติหน้าทีโดยมิชอบโดยทุจริตหรือไม่อย่างไร

 

“เนื่องจาก การเข้าปฎิบัติราชการระหว่างถูกคำสั่งพักราชการและพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ๑ ภาค ๑ ได้ยื่นฟ้อง นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทราบแล้ว มันชอบด้วยระเบียบ กฎหมายหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลเป็นสำคัญ” เธอกล่าว

 

การร้องเรียนครั้งนี้ ได้เข้ายื่นหนังสือ จำนวน 3 แห่ง คือ สำนักงาน ป.ป.ช., รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ, และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี

 

ขณะนี้ คนในแวดวงการศึกษาและสังคม สาธารณะชน ต่างพากันคาดหวังว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คงไม่วางเฉยกับผู้บริหารไร้ธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส ที่หลบซุกภายใต้ปีกนโยบาย ”เรียนดี มีความสุข”  

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage