เกศทิพย์ รองกพฐ. แจงบ่วงปมย้าย “ผอ.ข้าวไข่ต้ม” ไปตำแหน่งใหญ่กว่าเดิม “ขว้างงูไม่พ้นคอ”

 

 

“ขว้างงูไม่พ้นคอ”  เกศทิพย์ รองกพฐ. แจงบ่วงปม

ย้าย “ผอ.ข้าวไข่ต้ม” ไปตำแหน่งใหญ่กว่าเดิม 

 

วิชชา เพชรเกษม : คอลัมน์นิสต์

 

❝...ขอให้ทราบถึงสิ่งสำคัญในการปกครองไว้ว่า ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2512 

 

 จากประเด็น นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยเมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ ลงข้อความในทำนองว่า...

 

...ผอ.ข้าวไข่ต้ม กรณีผอ.ข้าวไข่ต้ม ที่แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน มีเหตุโดนเด้งเข้ากรุ ปมอาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 เวลาผ่านไป 3 เดือน กลับมีคำสั่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ 898/2567 สั่ง ณ วันที่ 25 เม.ย. 67 ให้ย้ายตำแหน่งเป็น ผอ. โรงเรียนสอนคนตาบอด ภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ ดีกว่าเดิม พร้อมกับลงภาพถ่าย คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 25 เมษายน 2567 นั้น...

 

ซึ่งข้อความข่าวจากสื่อดังกล่าว อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า สพฐ. ดำเนินการไม่เหมาะสม ที่สั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิมนั้น ตนขอยืนยันว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามที่เพจดังกล่าวเสนอ EDUNEWSSIAM ขอแยกเป็นประเด็น ดังนี้

 

ประเด็น โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนนักเรียนเพียง 111 คน (ตามข้อมูล 10 มิถุนายน 2566) มีพื้นที่ 3 ไร่เศษ ในขณะที่โรงเรียนเดิม คือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนนักเรียน 496 คน พื้นที่ 654 ไร่

 

ตนจึงขอยืนยันว่า โรงเรียนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวมีปริมาณงานที่ลดลงกว่าเดิม มีนักเรียนน้อยกว่าเดิม และมีพื้นที่ในการบริหารจัดการน้อยกว่าเดิม จึงไม่ใช่สั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม

 

ประเด็น การที่ สพฐ. สั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเท่านั้น

 

ส่วนการย้าย ยังไม่ถึงช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว จะได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ ยังไม่เป็นที่แน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับคู่แข่งขันและความเหมาะสม

 

ประเด็น... หตุผลที่ สพฐ. สั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีเหตุผลความจำเป็น คือ

 

ในระหว่างที่ สพฐ.สั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ถูกสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ที่ สพฐ. ที่ กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า สามีของผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวป่วยหนัก ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความลำบากที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับกรุงเทพมหานคร

 

ตามหลักคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล จึงมีความจำเป็นต้องสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีโอกาสดูแลสามีได้อย่างใกล้ชิด

 

 

ประเด็น... ตราบใดที่ยังไม่มีผลการพิจารณาหรือตัดสินว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย

 

จึงขอยืนยันว่า สพฐ. ได้พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งสิ้น

 

ซึ่งหากผลการดำเนินการทางวินัย หรือผลของการดำเนินคดีอาญาในเรื่องที่กล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ออกมาอย่างไร สพฐ. ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นอย่างตรงไปตรงมา 

 

ตามด้วย การขยายเล่ารายละเอียดที่มาของเหตุและปัญหา ในการดำเนินการ ในหลาย กรณีดังกล่าว ของนางเกศทิพย์ โดยสังเขป ดังนี้ คือ

 

 

เหตุเริ่มต้น เกิดจากเรื่องเกี่ยวกับโครงการจัดเลี้ยงอาหารให้แก่นักเรียน ของ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เพจออนไลน์ได้เริ่มลงภาพ จานข้าวกับไข่ต้ม 1 ฟอง กับน้ำพริกตาแดง ในวันที่ 12 มกราคม 2567

 

ซึ่งเมื่อมีข่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กรุงเทพฯ ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 108/2567 ลงวันที่ 12 มกราคม 2567

 

จากนั้น สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในวันเดียวกัน และให้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที

 

และในขณะเดียวกัน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งพบว่า... ในความเป็นจริงแล้ว การจัดอาหารกลางวันสภาพดังกล่าว ทำเพียงมื้อเดียว เนื่องจากโรงเรียนใช้งบประมาณจัดอาหารในมื้อนั้นไปจัดเลี้ยงหมูกระทะให้แก่นักเรียน เนื่องในวันปีใหม่ และ ในโอกาสวันเด็ก ในวันที่ 13 มกราคม 2567 ซึ่งการเบิกจ่ายเงินในมื้อที่มีไข่ต้ม 1 ฟอง ได้เบิกจ่ายตามความเป็นจริง

 

อีกทั้ง รองเลขาธิการ กพฐ. ยังระบุสภาพที่พบอย่างหนึ่ง คือ ครูภายในโรงเรียนมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

 

อย่างไรก็ตาม ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในการจัดอาหารไม่เหมาะสมในกรณีดังกล่าว ประกอบกับพฤติการณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง สพฐ. จึงได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 288/2567 สั่ง ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งระยะเวลาการสอบสวน ตาม กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550 มีระยะเวลาในการดำเนินการ 180 วัน

 

เมื่อนับระยะเวลาปัจจุบัน ขณะนี้เวลาเพิ่งผ่านไปเพียง 90 วัน เรื่องจึงยังอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง

 

นอกจากนั้น ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาในกรณีที่เป็นข่าวดังกล่าวด้วย ในระหว่างตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2567 เป็นต้นมา โดยผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว จึงปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานครมาโดยตลอด

 

จนกระทั่งถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สพฐ. จึงได้สั่งการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในโครงการส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 385/2567 สั่ง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากสามีป่วยหนักดังกล่าว

 

"พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ และเมื่อผู้อำนวยการคนดังกล่าว ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่โรงเรียนแห่งใหม่ดังกล่าว ก็ได้สั่งการกำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้สังคมมีความเชื่อมั่นว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของทางราชการอย่างแท้จริง" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวอดีตข้าราชการระดับสูง ศธ.ท่านหนึ่ง ให้ความเห็นกับผู้เขียนถึงการชี้แจง ของ รองเลขาธิการ กพฐ.ว่า จะยิ่งทำให้สังคมสับสน ถึงคำสั่ง สพฐ .ณ วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ลงนามโดย นางเกศทิพย์ ศุกวานิช ล่าสุด ก็ไม่ปรากฏข้อความใดระบุว่า... ให้ นางสินีนาถ รสเครือ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๑ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่โรงเรียนแห่งใหม่ เพื่อประโยชน์ของทางราชการอย่างแท้จริง

 

อีกประเด็นในการเลี้ยงหมูกระทะให้แก่นักเรียน เนื่องในวันปีใหม่และในโอกาสวันเด็ก ก็ไม่เกี่ยวกับเงินโครงการอาหารกลางวันเด็ก แต่ในมื้อที่มี ข้าว ไข่ต้ม 1 ฟอง และน้ำพริกตาแดง ตามข่าว นั้นเป็นการเบิกจ่ายเงินในโครงการอาหารกลางวัน   

 

 ขอบคุณภาพเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน

 

และ ที่ออกมาบอกว่า สภาพครูภายในโรงเรียนมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ข้อนี้คำพูดของรองเลขาธิการ กพฐ. อาจต้องอยู่ในสำนวนสอบสวน ที่อาจถูกมองว่าเป็นการชี้นำ หรือ เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ซึ่งก็ไม่สามารถนำไปหักล้างหลักฐานที่เป็นความผิดที่สำเร็จไปแล้วเช่นกัน

 

รวมถึง การอ้างถึงความลำบากขณะที่ถูกคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง ต้องเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ กับ กรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลสามีที่เจ็บป่วย ก็เป็นเพียงยกอ้างในหลักคุณธรรมการบริหารงานบุคคล มาประกอบให้สังคมรับทราบและเห็นใจ

 

 

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ข้าวเปล่า ไข่ต้ม ใบ และน้ำพริกตาแดง คนละประเด็นกับการถูกสอบสวน 

 

อย่างไรก็ตาม  รองเลขา กพฐ. เล่นคำใหญ่ ยกอ้างถึงการสอบสวนที่ยังไม่เสร็จสิ้น ผอ.ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ ตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยก็จริง

 

แต่การมีคำสั่ง โดยอาศัยช่วงรักษาการ กพฐ. ลงนามให้ ผอ.ไปปฏิบัติหน้าที่ปกครองในสถานศึกษาสังกัดเดียวกัน ย่อมหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์ถึงความไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและไม่ชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง แน่นอน

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่ผู้บริหารสถานศึกษาคนดังกล่าว ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.แม่ลาน้อย  (11 ม.ค.2567 เวลา 19.00 น.) เพื่อเอาผิดเด็กนักเรียนที่อยู่ในความปกครองของตนเอง กรณีโพสต์คลิปอาหารกลางวัน ในถาดหลุมมีเพียงข้าวเปล่า ไข่ต้ม 1 ใบ และน้ำพริกตาแดง 1 ห่อขนาดเล็ก ในความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จนเด็กนักเรียนจำนวน 20 คน ได้พากันเดินทางไปที่ สภ.แม่ลาน้อย เพื่อคัดค้านการแจ้งความเอาผิดนั้น ย่อมสะท้อนถึงวุฒิภาวะผู้บริหารการศึกษาได้หรือไม่ว่ามีความบกพพร่อง อาจก่อความเดือดร้อนวุ่นวายอีกก็ได้    

 

 

“..ขอฝากถามกลับไปถึง พล.ต.อ. ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคุรุสภา และ เลขาธิการสำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า สมควรหรือไม่ที่จะให้บุคคลอย่าง “ผอ.ข้าวไข่ต้ม” มีใบอนุญาตประกอบวิชาอาชีพครูหรือผู้บริหารการศึกษา ต่อไปอีกหรือไม่ เพื่อทำให้ นโยบาย "จับมือไไว้ แล้วไปด้วยกัน" และ “เรียนดี มีความสุข” เป็นความจริงทั่วกันทุกพื้นที่...” อดีตข้าราชการระดับสูง ศธ.กล่าว  

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage