เร่งอัพสกิล รีสกิล คนพิการ คาดปีละ 1 แสนคน มีงานทำ ดูแลตนเองได้ ขานรับยูเอน ยกเป็นวาระโลก

 

เร่งอัพสกิล รีสกิล คนพิการ คาดปีละ 1 แสนคน

มีงานทำ ดูแลตนเองได้ ขานรับยูเอน ยกเป็นวาระโลก

 

มูลนิธิ Art for all จัดเสวนา ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ขณะที่สหประชาชาติยกเป็นวาระใหญ่ของโลก ยึดหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เนื่องจาก ปัญหาสังคมในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีความซับซ้อน ยากที่จะแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความเท่าเทียม” โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือผู้พิการ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานได้เหมือนกับคนทั่วไป รวมถึงการเข้าถึงงาน เข้าถึงอาชีพ และอีกหลายอย่าง ซึ่งหากเรื่องนี้ไม่ได้รับการ[บรรเทา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 

จากข้อมูลประมวลผลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้พิการทั้งหมดประมาณ 2,273,981 ราย (ปี 2567) ผู้พิการประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการมีงานทำ

 

โดยมีผู้พิการเพียง 1 ใน 25 คน ที่ได้เรียนระดับอุดมศึกษา หรือผู้พิการเพียง 4 ใน 10 คนที่จะมีงานทำเท่านั้น

 

และมีผู้พิการเพียงร้อยละ 44.4 ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้พิการตามกฎหมาย และมีเพียงร้อยละ 43.8 ของผู้พิการทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ และมีผู้พิการอีกหลายแสนคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วย อุปกรณ์ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 

ทั้งยังระบุว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนความพิการสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง ถึงประมาณ 3.5 เท่า เช่นเดียวกับสัดส่วนความยากจนในครัวเรือนที่มีผู้พิการก็สูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการด้วย

 

สำหรับนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้มีแผนพัฒนาการมีส่วนร่วมของคนพิการ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ดำเนินการตามแผนระดับประเทศระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) ด้วยหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

 

ในส่วนการสนับสนุนของรัฐบาล มีเบี้ยยังชีพคนพิการ โดยที่คนพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้รับเบี้ยความพิการ 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน และคนพิการมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์หรือมากกว่าในเดือนนั้น จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยความพิการ 800 บาท

 

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ ซึ่งเป็นความร่วมมือ ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัย ภูมิภาค ได้แก่

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการที่จะนำคนพิการ โดยการใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มา Recruit ด้วยการนำคนพิการแต่ละปี มายกระดับทักษะใหม่ๆ (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ๆ (Reskill)

 

โดยคาดการณ์เอาไว้ว่า ผลลัพธ์ 100% ของคนพิการที่เข้าหลักสูตรนี้ จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของปี 2567 และคนพิการผู้ผ่านหลักสูตรนี้ จะมีงานทำ ไม่ว่าจะทำงานกับสถานประกอบการ เป็นบุคลากรต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษา

 

 

และเมื่อสำเร็จแล้ว โครงการนี้จะได้รับการต่อยอด คือ การลงนาม MOU ระหว่าง กระทรวง พม. จะประสานงานไปกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อที่จะใช้สถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ วิทยาลัยเทคนิคและสารพัดช่าง ในการ Upskill และ Reskill คนพิการทั่วประเทศ ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ มั่นใจว่าในแต่ละปี คนพิการไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จะมีงานทำและสามารถดูแลตนเองได้ และพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยลง

 

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ Art for All กล่าวว่า ปัจจุบันผู้พิการเผชิญความท้าทายในเรื่องของอาชีพการงาน มูลนิธิก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี พยายามเชื่อมโยงงานศิลปะทุกแขนง ให้เกิดความเท่าเทียมกับผู้พิการ ผ่านการเรียนรู้ศิลปะด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีไซน์ เรื่องของดนตรี พัฒนาศักยภาพพวกเขาให้สามารถต่อยอดสู่อาชีพได้ในอนาคต

 

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ในอดีตคนพิการเกิดจากอุบัติเหตุการทำงาน ตอนนี้มาสู่จุดที่คนพิการเกิดขึ้นจากระบบสาธารณสุข หมายความว่าพอระบบสาธารณสุขดี ก็ทำให้คนพิการแข็งแรงขึ้น มีอายุมากขึ้น โดยจากข้อมูลที่ศึกษามาจากธนาคารแห่งหนึ่ง พบว่า

 

ทั่วโลกมีผู้สูงอายุกว่า 560 ล้านคน แต่อีก 20 กว่าปี ในประเทศเอเชียแปซิฟิก จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 1200 ล้านคน และอัตราเฉลี่ยผู้สูงอายุที่พิการในจำนวนนี้ จะมีประมาณ 40% พอกลับมาดูที่ประเทศไทย ถ้าจำนวนเพิ่มขึ้นเราจะเอาแรงที่ไหนมาดูแล

 

ขณะที่งานดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ อยู่ใรมือภาครัฐเกือบทั้งหมด เมื่อก่อนคุณภาพดี แต่ตอนนี้ผมมองว่าคุณภาพการดูแลไม่เหมือนเดิม เพราะจำนวนผู้สูงอายุกับผู้พิการเยอะขึ้น แต่ระบบงานภาครัฐยังเหมือนเดิม ฉะนั้นรัฐต้องเร่งปรับเพื่อหันไปดูแลทรัพยากรคนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตของสูงอายุกับผู้พิการ” นายต่อพงศ์ กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage