เสวนากับบรรณาธิการ : มูลนิธิพระดาบส จับมือ อาชีวะ ร่วมเปิดโอกาสผลักดันการเรียนการสอนทวิภาคี

 

เสวนากับบรรณาธิการ : วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งถึงเหตุที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อย ตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ขาดโอกาสเล่าเรียน ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมอมา พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของมูลนิธิพระดาบส ถ่ายทอดพระราชกระแสพระราชทานในเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ความตอนหนึ่งว่า...

 

“…ขณะนี้ ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหา ไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่าง ๆ ได้ หากมีช่องทางเหล่านี้ ให้มีความรู้ วิชาชีพที่เขาปรารถนา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…”

 

แต่ “ช่องทางช่วยเหลือ” ในยุคสมัยนั้น ไม่สามารถจัดผ่านระบบการศึกษาปกติได้เพราะโรงเรียนวิชาชีพ เช่น โรงเรียนอาชีวศึกษาโรงเรียนการช่าง วิทยาลัยเทคนิค สถาบันเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนมีข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียน เช่น กำหนดพื้นฐานความรู้ อายุ เป็นต้นส่วนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ก็มีเพียงแก้ไขปัญหาผู้ใหญ่ไม่รู้หนังสือให้อ่านออกเขียนได้และเป็นพลเมืองดี ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องอาชีพการงาน

 

จากพระกระแสดำรัสดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  ได้จัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพอาชีพ และสามารถพูดย้ำได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ได้ยึดมั่นการเดินตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ด้าน ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างคนดีมีความรู้ความสามารถให้บ้านเมือง ทุกประการ 

  

"...๑) มีทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 

๒) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง 

๓) มีคุณธรรมและ

๔) มีงานมีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัวได้และเป็นพลเมืองที่ดีมีระเบียบวินัย...”

 

สอศ. เริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนโครงการดังกล่าวรุ่นแรกเมื่อปี ๒๕๕๘  บนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ประกอบด้วย วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และวิทยาลัยเทคนิคดุสิต

 

สืบเนื่องมาถึง วันที่  22 ส.ค. 2566  ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างมูลนิธิพระดาบส กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส เป็นประธาน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนาม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มูลนิธิพระดาบส จ.สมุทรปราการ 

 

 

โดยโรงเรียนพระดาบส ร่วมกับ วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดการศึกษาให้แก่ศิษย์พระดาบส ที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖  ให้เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระบบทวิภาคี โดยการเทียบโอนผลการศึกษาที่เรียนในโรงเรียนพระดาบส ๑ ปี และเทียบโอนประสบการณ์ในสถานประกอบการ ๑ ปี เข้าร่วมกิจกรรมที่สถาบันการศึกษากำหนด ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ศิษย์พระดาบสได้พัฒนาตนเอง และมีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น

 

 

ปัจจุบัน  มีศิษย์พระดาบสที่เข้าศึกษาต่อในโครงการฯ และสำเร็จการศึกษา ได้รับวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปวส.ระบบทวิภาคี เป็นไปตามกรอบสมรรถนะอาชีพ ตามสาขาวิชาชีพที่กำหนดไปแล้ว จำนวน 231 คน และมีศิษย์ฯ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน 41 คน

 

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีให้กับผู้เรียนภายใต้การควบคุมดูแลของมูลนิธิพระดาบส ให้ได้รับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรอาชีวศึกษาทุกระดับ และร่วมกันเพื่อพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตร หรือรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน

ภายใต้กรอบมาตรฐานอาชีพ  ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะวิชาชีพเฉพาะด้านจากการปฏิบัติจริง ตลอดจนสนับสนุน ร่วมมือด้านบุคลากร และอุปกรณ์การสอน

 

 

ซึ่งจะทำให้ผู้ที่รอคอยโอกาสทั้งด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพอีกมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่มีความขยัน ใฝ่รู้ แต่ขาดโอกาส ขาดเวทีที่จะแสดงฝีมือ จะได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน มีเครื่องมือในการประกอบสัมมาอาชีพ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับตนเอง ครอบครัว ช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน อันเป็นแนวทางดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองพัฒนาความเจริญให้ประเทศ 

 

โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีหน้าที่ดูแลการจัดการศึกษา และฝึกอบรมวิชาชีพ จึงให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับ นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้มีความรู้ และสมรรถนะวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของภาคประกอบการ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี ที่อาชีวศึกษาได้ดำเนินการอยู่นั้น ถือว่าเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งสู่อาชีพ และการมีงานทำได้อย่างชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการของภาคประกอบการ อย่างตรงเป้าหมาย โดยผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริง เกิดทักษะความชำนาญ ทักษะชีวิต

 

 

ความร่วมมือกับมูลนิธิพระดาบสในครั้งนี้ จะร่วมกันดำเนินงานผ่านกิจกรรมด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของศิษย์พระดาบสให้มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เช่น การเทียบโอน ความรู้ และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ร่วมกันในการคัดเลือก นักศึกษาเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด รวมไปถึงการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน เอกสาร ตำรา สถานที่

   

เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนอาชีวศึกษา ได้เรียนรู้กระบวนการปฏิบัติงานทักษะด้านวิชาชีพ ตลอดจนคุณธรรมจริยธรรม ตรงตามคุณวุฒิการศึกษา และความต้องการของสถานประกอบการ ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage