พบเด็กไทยกว่า 4 แสน ถูกล่วงละเมิดเพศ ทางออนไลน์ ช่วงอายุ 8 – 14 ปี มากที่สุด

 

พบเด็กไทยกว่า 4 แสน ถูกล่วงละเมิดเพศ

ทางออนไลน์ ช่วงอายุ 8 – 14 ปี มากที่สุด 

 

มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) องค์กรไม่แสวงหากำไร หนึ่งในหน่วยงานพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในประเทศไทย ภายใต้มูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ในสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นอีกหนึ่งพลังภาคี ช่วยภาครัฐและภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากกว่าทศวรรษ

 

จากสถิติที่มูลนิธิ Safeguardkids ได้รวบรวมคดีค้ามนุษย์เด็กและการแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ( ปี 2559 – เดือนตุลาคม 2566) พบว่า....

 

...ตั้งแต่ ปี 2565 พบเด็กและเยาวชนไทย ถูกล่วงละเมิดสูงสุดถึง 476 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ราว 24 เท่า หากคำนวณจากปี 2559 เป็นต้นมา มีเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดจนถึงเดือนตุลาคม 2566 เป็นคดีความแล้วทั้งสิ้น 1,192 คดี ขณะที่ตัวเลขจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบเด็กกว่า 4 แสนคน ถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์

 

แต่ในความเป็นจริง มีเด็กหญิงและเด็กชายอีกจำนวนมาก ที่ตกเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ซึ่งไม่ได้เป็นคดี และพวกเขาไม่ทราบว่า จะต้องแจ้งเหตุ หรือขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน

 

รูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็กถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ เด็กหวาดกลัวไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง

 

เด็กและเยาวชนไทยจำนวนมาก ตกเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ ความเสียหายนอกจากสร้างบาดแผลลึกทางใจให้แก่เด็ก บางรายถูกกระทำอย่างรุนแรง วิปริต ชั่วร้าย ร่างกายบอบช้ำถึงขั้นพิการ แต่อาชาญากรก็ยังมีอยู่มากมาย

 

แต่ที่น่าวิตกเด็กไทยกลับถูกล่วงละเมิด ทั้งการค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชน และนำข้อมูลอนาจารของเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

ที่น่าสะเทือนใจผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ มักเป็นคนที่เด็กรู้จักหรือคุ้นเคย ไม่รวมผู้กระทำผิดในต่างประเทศ ขาดกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ

 

แม้จะมีมาตรการป้องกัน การจัดการ รวมถึงความช่วยเหลืออย่างเข้มข้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการด้านต่างๆ รวมถึงผู้ปกครองแล้วก็ตาม

 

แต่ก็ยังมีตัวเลขของเหยื่อตัวน้อยที่ถูกละเมิด เพิ่มขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีมานี้ โดยชายไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ในการละเมิดเด็กและเยาวชนของตนเอง ขณะที่เด็กผู้หญิงยังคงเป้าหลักในการถูกละเมิดทางเพศ

 

 

ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์และการรวมพลังส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่เด็กไทย เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางโซเชียล โดยระหว่างปี 2559 – 2564 พบเด็กและเยาวชนไทย ถูกละเมิดไปถึง 100 คดีต่อปี ต่ำสุดในปี 2559 จำนวน 20 คดี

 

เมื่อแบ่งตามสัญชาติพบว่า คนไทยล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนในประเทศของตนเองสูงเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,309 คดี รองลงมา อเมริกัน 17 คดี อังกฤษ 8 คดี และออสเตรเลีย 8 คดี และสัญชาติอื่น ๆ รวม 53 คดี

 

สถานการณ์วันนี้เข้าสู่วิกฤต ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันติดสัญญาณเตือนภัยให้กับประเทศ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากประสบการณ์เลวร้ายและเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทย

 

หากพบเห็นความไม่ปกติเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ผู้พบเห็นต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หรือให้ความช่วยเหลือไม่เพิกเฉยปล่อยผ่าน คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมอีกต่อไป  

 

จึงเป็นที่มาประเทศไทยเตรียมจัดสัมมนาระดับประเทศ “ Child Protection Summit 2024 “ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ องค์การสหประชาชาติกรุงเทพฯ โดยสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เป็นองค์ปาฐก บอกกล่าวถึงภัยร้ายแรงและการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในนามของมูลนิธิ World Childhood Foundation ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยพระองค์เอง

 

 

ชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิ Safeguardkids กล่าวว่า การจัดงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก Child Protection Summit 2024 เพื่อให้การดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศเดินหน้า หลังจากหยุดชะงักในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสร้างความตระหนักให้แก่สังคมไทยต่อประเด็นดังกล่าว

 

ภายในงานจะมีพิธีลงนามความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิ Safeguard Kids ในการผนึกกำลังปกป้อง คุ้มครองและเยียวยาเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกล่วงละเมิดอีกด้วย

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage