โรงเรียนเอกชน...นานาชาติ กับสภาพความเป็นจริง...สุดตรม

 

เสวนากับบรรณาธิการ 5 ส.ค.2564

โรงเรียนเอกชน...นานาชาติ   

กับสภาพความเป็นจริง...สุดตรม                                                                                      

 

 

 

 

 

 

นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง กับข้อเรียกร้อง ของ นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ที่ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่ไม่ได้รับความสนใจ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างควรจะเป็น

พินิจจากเนื้อหาใน จ.ม. ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาของโรงเรียนเอกชน และ ข้อเสนอเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล อันเนื่องมาจากสถานศึกษาปิดเรียนตามคำสั่งตามสถานการณ์ของแต่ละ จังหวัด อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 ที่ได้กระจายไปทั่วประเทศ

แม้ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของให้ผู้ปกครอง 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน ประจำปีการศึกษา 1/2564 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกรอบวงเงิน 33,000 ล้านบาท ให้กับนักเรียนในระบบ จำนวน 10,793,975 คน อยู่ที่ 21,587,950,000 บาท

และ วงเงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน จำนวนถึง 1,750,109 คน

แต่ดูเหมือน มาตรการดังกล่าว ส่งผลกระทบโรงเรียนเอกชนนานาชาติ และโรงเรียนเอกชนสังกัดสช.ที่ไม่ได้ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ นอกจากไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังต้องคืนค่าธรรมเนียม’ 11 รายการ อันเนื่องจากเรียนออนไลน์ ที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครองและไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายไปอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น  กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ ที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองให้เท่ากับปีการศึกษา 2563

   

อาจเรียกได้ว่า ปิดประตูทางออกแล้วแถมไม่ยอมแง้มประตูรับฟัง สภาพปัจจุบันปัญหาของกลุ่มโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ ที่นอกจากไม่รับการอุดหนุนจากรัฐแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ดิ้นรนหาทางออกเพื่อความอยู่รอด  ซึ่งดูเหมือนรัฐเองจะลืมไปแล้วว่า ยังมีกลุ่มโรงเรียนฯ ดังกล่าว ที่ต้องการความช่วยเหลือและยังแบกรับภาระอยู่ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

สิ่งแรก ที่สมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ขอ คือ การขอให้รัฐจัดหาวัคซีนฉีดให้ครู ให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน มีอินเตอร์เน็ต “ฟรี” เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน ON-LINE เป็นเวลา 6-12 เดือน เป็นอย่างน้อย

ตามมาด้วย ข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารภายในโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง กล่าวถึงการคืนค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามที่ ศธ.ได้มีประกาศให้ดำเนินคืนเงินในส่วนที่ไม่ได้จัดให้ผู้ปกครองนั้น

...ขอให้ ศธ.มองสภาพความเป็นจริงแล้ว ในสถานการณ์โควิด-19 การมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนฯ และคำสั่งปิดแต่ละครั้ง โรงเรียนซึ่งก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ และเป็นผู้เสียหายมิใช่น้อย เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ยากที่จะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่นกัน ซึ่งทุกๆหน่วยงานที่รับคำสั่งย่อมต้องปฎิบัติตามอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็นับเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้...

เป็นเสียงจากตัวแทนสถานศึกษาในสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่เปิดการเรียนการสอนในต่างจังหวัด บอกด้วยนำ้เสียงเศร้า ๆ 

...ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ในขณะที่โรงเรียนถูกปิดนั้น ครูในสถานศึกษาเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และโรงเรียนนานาชาติ ก็ไม่ได้รับการเยียวยา อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงเรียน ยังดำเนินต่อไป ไม่ว่าด้วยเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าสาธารณูปโภค ตลอดจน อาคารสถานที่เมื่อไม่มีคนมาใช้ทุกวัน ก็เป็นที่มาของปัญหา ความสกปรกที่ทำให้นก หนู ปลวก มาอาศัย ก็ต้องบำรุงรักษาตลอดเวลา ซึงเห็นอยู่ว่า คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดตามปกติรายได้ประจำวันหายไป...

ค่าอุปกรณ์การทำความสะอาดตามมาตรการป้องกัน ไม่ว่าด้วยเครื่องฟอกอากาศ เครื่องพ่นฆ่าเชื้อฯ เครื่องอบโอโซน และครุภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี เพื่อการปรับปรุงการสอนออนไลน์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่โรงเรียนต่างๆ จะมีกำลังจัดซื้อจัดหา ตามแต่บริบทของตน

นี้ยังไม่รวมถึงการที่ต้องคืนเงินที่เคยเป็นรายรับมาเจือจุนยามปกติ เช่น ค่าเรียนพิเศษ ค่าจำหน่ายอาหารกลางวัน และอาหารว่าง โดยเฉพาะโรงเรียนประเภทที่ไม่ได้รับการอุดหนุนใด ๆ จากภาครัฐ เท่ากับว่า ทุกแห่งประสบปัญหาหนักด้วยกันทั้งสิ้น หากยังไม่รีบแก้ไขสถานการณ์

อีกทั้งโรงเรียนยัง ต้องคำนึงถึงรายจ่ายที่ต้องจ่าย เช่น เงินเดือนครู โดยเฉพาะค่าจ้างครูต่างประเทศ ที่ไม่สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้ จะต้องต่อสัญญาเป็นรายปี มีข้อผูกมัดในสัญญาต่าง ๆ มากมาย  ซึ่งการจ้างครูต่างประเทศที่มีคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ทำให้โรงเรียนแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน 

...ทุกโรงเรียนมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะโรงเรียนที่ต้องจ้างครูเป็นรายปี และต้องจ่ายงินเดือนทุกเดือนตามสัญญาการจ้างงาน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ปกครองได้เลย โรงเรียนเหล่านี้หวังเพียงเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาล ที่สามารถนำมาจ่ายเงินเดือนครูและบุคลากรให้เพียงพอ อีกทั้งทุกโรงเรียนก็มีภาระเพิ่มขึ้นมากมายจากการเรียนในระบบ ON-LINE ...

ที่ผ่านมา จากการเก็บข้อมูลของ ส.ปส.กช.ระบุว่า โรงเรียนเอกชนประมาณ 1,800 แห่งทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 3,800 แห่ง (เก็บข้อมูลยังไม่ครอบตามเป้า คือ 2,000แห่ง) พบว่า มีผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมสะสม กว่า 1,300 ล้านบาท ขณะที่ผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม กว่าร้อยละ 90 ยังคงให้นักเรียนเรียนอยู่ที่โรงเรียนเดิม เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษา

ขณะนี้โรงเรียนเอกชนทั้งหลายกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะการที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติยิ่งทำให้ผู้ปกครองมาจ่ายค่าเทอมล่าช้า  ซึ่งเท่าที่สำรวจมีผู้ปกครองมาจ่ายค่าเทอมให้แก่โรงเรียนยังไม่ถึงร้อยละ 50 เนื่องจากผู้ปกครองมีความรู้สึกว่า การเรียนออนไลน์ ยังไม่ถือว่าเป็นการเปิดภาคเรียน ขณะที่โรงเรียนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าเดิม 

ก็ยอมรับว่า สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์อาจไม่ถูกใจผู้ปกครอง บางส่วนและบางครั้งอาจเป็นภาระของผู้ปกครองเอง ด้วยครูทุกคนก็พึ่งเรียนรู้วิธีการสอนไปพร้อม ๆ กับนักเรียน

แต่ในเรื่องที่จะช่วยผู้ปกครองด้วยการคืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้จัดกิจกรรม ฟังได้ว่า โรงเรียนเอกชนมิได้ปฏิเสธ แต่ถ้าหากจะขอชะลอเวลาออกไปให้สิ้นภาคเรียน ที่ 1/2564 เพื่อจะได้ตรวจสอบสภาพทางการเงินที่สถานศึกษาที่ได้ดำเนินการในข่วงที่ผ่านมา หรือพิจารณาถึงความน่าจะเป็นในอนาคตว่ามีรายการอะไรบ้าง ก็น่าจะเป็นการพบกันครึ่งทาง

ช่วงยามนี้ในมุมผู้ปกครอง ย่อมเข้าใจถึงสภาวะที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเองหรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็ควรเข้าใจถึงสภาวะโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ที่ต้องดิ้นรนช่วยตนองด้วยเช่นกัน หรือลืมไปว่าโรงเรียนที่ถูกสั่งปิด ก็เป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รับความบอบช้ำ พอๆกัน  หรือนักหนากว่าด้วยซ้ำ เพราะยังแบกภาระเช่นเดิม 

สุดท้ายกับเสียงเรียกร้องอยากให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กลับมาศึกษาดูว่า หากโรงเรียนทั่วประเทศ ยังไม่สามารถเปิดเรียนตามปกติได้ ศธ.จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างไรได้   

เนื่องจาก ขณะนี้ใกล้จะปิดภาคเรียนที่ 1/2564 แล้ว  

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)