ละเอียดยิบกระทู้ ค.ร.อ.ท.ผ่าน กมธ.! 'ณัฏฐพล'ไม่ปฏิบัติตาม กม.อาชีวะ?

ละเอียดยิบกระทู้ ค.ร.อ.ท.ผ่าน กมธ. “ณัฏฐพล” ไม่ปฏิบัติตาม กม.อาชีวะ?

ความคืบหน้ากรณีนายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายนพคุณ รัฐไผท ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร, รศ.สุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ขอให้พิจารณาติดตาม ตรวจสอบ และตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” หรือไม่?

โดย นายเศรษฐศิษฏ์ อ้างว่า เครือข่าย ค.ร.อ.ท.ได้รับการประสานงานจากคณะผู้บริหารงานสถาบันการอาชีวศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 23 สถาบัน เพื่อให้เป็นตัวแทนประสานงานและยื่นหนังสือดังกล่าวนั้น

ล่าสุดได้รับหนังสือและรับแจ้งจากนายนพคุณ ประธาน กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า กมธ.การศึกษาฯได้กำหนดให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ จึงเชิญนายเศรษฐศิษฏ์ ประธาน ค.ร.อ.ท.ในฐานะผู้ร้องเรียน มาร่วมประชุมให้ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะแก่ กมธ.การศึกษาในวันพุธที่ 6 มกราคม 2564

แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ประจำ กมธ.การศึกษาฯได้แจ้งเลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะแจ้งวันเวลาเชิฯประชุมให้ทราบอีกครั้งในเร็วๆ นี้

สำหรับรายละเอียดในหนังสือร้องเรียนต่อ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “ขอให้ตั้งกระทู้ถามนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวศึกษาหรือไม่?มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

จากการที่การอาชีวศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และมีอิทธิพลต่อความมั่นคงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เมื่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ได้รับการส่งเสริมและมีอัตราการขยายตัว แรงงานที่ต้องการในระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

เรียกร้องให้อาชีวศึกษาต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความสามารถตามที่ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต้องการ อัตราการเลือกเรียนอาชีวศึกษาจึงสอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

การจัดการอาชีวศึกษาจึงเป็นภารกิจสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในช่วงของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาคนให้สามารถผลิตนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในด้านต่างๆ

อาทิ การเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Smart Enterprise), อุตสาหกรรมยุค 4.0 (Industry), เศรษฐกิจระบบชีวภาพ และแนวทางทางการตลาดเป็นตัวนำการผลิต ฯลฯ

จากปาฐกถาพิเศษของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องผู้เรียนอาชีวศึกษาคือผู้ทรงคุณค่าของสังคมในงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย ณ Exhibition Hall 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 (ที่มา รัฐบาลไทย Royal  Government)

แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการอาชีวศึกษาว่าผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นบุคคลที่มีคุณค่า มีขีดความสามารถ และมีทักษะสำคัญต่อการพัฒนาชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

จากความสำคัญของการอาชีวศึกษาที่กล่าวข้างต้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาของชาติได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการอาชีวศึกษา โดยบัญญัติไว้ในมาตราที่ 20 ว่า การจัดการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชน สถานประกอบการ

หรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการอาชีวศึกษา โดยเหตุผลของการตรากฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีกลไกขับเคลื่อนการบริหารและการจัดการอาชีวศึกษาที่สำคัญ 2 ส่วนได้แก่

1.คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการอาชีวศึกษา รวมทั้งการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา

2.สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นหน่วยงานการศึกษาที่จัดการศึกษาอาชีวศึกษา ทั้ง 3 ระดับ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

นอกจากนี้เจตนารมณ์ที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้มุ่งให้มีการจัดการอาชีวศึกษาที่ดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพด้านนโยบายและมีการกระจายอำนาจและหลักปฏิบัติเพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมและประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จแก่ประชาชนโดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษาอันจะเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติอีกด้วย

จากการดำเนินงานที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-ปัจจุบัน สถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง สามารถผลิตผู้เรียนทั้งในระดับ ปวช., ปวส. และระดับปริญญาตรีที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง

โดยในระดับปริญญาตรีนั้นสามารถผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาดแรงงานได้แล้วจำนวน 13,784 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่มา : ศูนย์ประสานงานสถาบันการอาชีวศึกษา) ส่งผลให้ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษามีงานทำ และสร้างความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันฯอย่างดียิ่ง

ผลงานวิจัยของผู้เรียน (คุณภาพบัณฑิต) มีผลต่อการพัฒนาชุมชน, ท้องถิ่น และสถานประกอบการ (การจัดประชุมวิชาการระดับสถาบัน) อีกทั้งยังเป็นการสร้างเส้นทางอาชีพของผู้เรียนหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ลดความเหลื่อมล้ำ และขยายโอกาสทางการศึกษา (อยู่ในชนบทสามารถศึกษาสายอาชีพได้ถึงระดับปริญญาตรี, เชิงคุณภาพ)

เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาตินโยบายรัฐบาลและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวศึกษา กระผมในฐานะผู้แทนราษฎรที่มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาของชาติ จึงขอตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดังนี้

1.ประเด็นการได้มาซึ่งคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นรูปแบบการบริหารที่เป็นองค์คณะบุคคล กฎหมาย บัญญัติให้มีการจัดตั้งขึ้น ให้มีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 มาตรา 32 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 17 แห่งพระบัญญัติระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 รวมทั้งมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551

ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหา

ตามที่ประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งตามวาระเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2560 ปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดให้มีการสรรหาภายใน 60 วัน

ทั้งที่ได้เริ่มกระบวนการสรรหากรรมการไปแล้ว และต่อมาได้มีการยกเลิกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การเลือก วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พ.ศ.2562 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2562 ขึ้นใหม่ ซึ่งกำหนดให้มีการสรรหาภายในระยะเวลา 90 วัน

ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้เสนอรายชื่อเพื่อแต่งตั้ง ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่องรายชื่อผู้แทนองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเสนอชื่อที่มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหา การเลือกกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2562 แล้ว

จนปัจจุบันยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษาชุดใหม่แต่อย่างใด ซึ่งส่งผลเสียต่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการอาชีวศึกษา ตามอำนาจหน้าที่
ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551

ข้อคำถาม

ในประเด็นนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถาม ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า

1.1 เมื่อมีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาครั้งที่ 1
ตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พ.ศ.
2546 เรียบร้อยแล้วเหตุใดจึงไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่คัดเลือกได้ ขอทราบรายละเอียด

1.2 มีเหตุผลความจำเป็นใด จึงต้องออกกฎกระทรวง กำหนดจำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การเลือก วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พ.ศ.2562 วันที่ 13 มีนาคม 2562 ฉบับใหม่ ทั้งที่ได้เริ่มกระบวนการสรรหากรรมการไปแล้ว ขอทราบรายละเอียด

1.3 เมื่อกฎกระทรวงฯ ฉบับ พ.ศ.2562 กำหนดให้มีการสรรหาประธานกรรมการและคณะกรรมการการอาชีวศึกษาภายใน 90 วันแล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการแต่งตั้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอทราบรายละเอียด

2.ประเด็นไม่มีการเร่งรัดให้ได้มาซึ่งนายกสภาสถาบันทั้ง 23 แห่ง

จากประเด็นไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง ซึ่งขณะนี้กรรมการชุดดังกล่าวได้หมดวาระไปตั้งแต่ช่วงมีนาคม พ.ศ.2560 และตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มาตรา 24 ...ให้มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา 23 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง  

แต่ถึงปัจจุบันยังไม่สามารถสรรหาคณะกรรมการสภาสถาบันฯชุดใหม่ได้  ซึ่งสร้างผลกรทบต่อการบริหารงานของสถาบันการการอาชีวศึกษา  ซึ่งคณะกรรมการสภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 25 มีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบัน

ประเด็นคำถาม 

ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา 2551 มาตรา 24 กำหนดไว้จะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภาสถาบัน..ภายในเก้าสิบวันเมื่อผู้นั้นพ้นตำแหน่ง เป็นเพราะเหตุใดจึงไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และจะดำเนินการได้เมื่อใด หรือจงใจที่จะไม่ให้มีนายกสภาสถาบันฯอีกต่อไป

3.ประเด็นการไม่สนับสนุนการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ตามบทบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551

โดยที่เจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 เห็นสมควรกำหนดให้มีสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นสถานศึกษาของรัฐที่จัดการอาชีวศึกษาต่อเนื่องจากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ต่อยอดไปจนถึงระดับปริญญาสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการที่มีความพิเศษที่มุ่งผลิตนวัตกร ที่มีทักษะ Hands-on Head-on และ Heart-on

ซึ่งมีความแตกต่างจากการจัดการศึกษาอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่นของรัฐที่กำกับควบคุมและดูแลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยมีสถาบันการอาชีวศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

โดยมีการจัดการอาชีวศึกษาที่ดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในด้านนโยบาย และมีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับปฏิบัติ เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในทุกระดับมีคุณภาพ และประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จแก่ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษา อันจะเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ

ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหา

จากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานีว่า จะสนับสนุนให้สถาบันการอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพตามความเป็นเลิศของสถานศึกษา และตามบริบทของพื้นที่ โดยต้องสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับความสามารถของผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษาให้มีความสามารถในการแข่งขัน ทักษะความเชี่ยวชาญที่ทำงานได้ทันที และมีทักษะด้านความคิดและอารมณ์ที่สอดคล้องกับโลกการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

แต่จากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนทำนองว่า มีนโยบายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาค้นหาจุดเด่นของวิทยาลัย ต้องกล้ายุบบางสาขา ไม่ควรห่วงเงินอุดหนุนรายหัวลดลง และวิทยาลัยอาชีวศึกษา ไม่จำเป็นต้องเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี เพราะบางแห่งอาจไม่มีความถนัด และครูไม่มีความพร้อม ควรปล่อยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้จัดการเรียนการสอน

ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนดังกล่าว ได้สร้างความหวาดวิตกแก่ผู้ที่จะเข้าเรียนอาชีวศึกษา รวมถึงผู้ปกครองเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพและความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมิได้ศึกษาและคำนึงถึงพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ให้ถ่องแท้

มาตรา 9 ประกอบมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดการอาชีวศึกษาได้ทั้งระดับขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ ไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การตอบสัมภาษณ์ดังกล่าวยังมีทิศทางขัดแย้งกับนโยบายของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์ในวันเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่มีนโยบายจะสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งทั่วประเทศ ที่มีการประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในสังกัดได้ทราบโดยทั่วกันแล้ว

ส่งผลให้บุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีความสับสนในทิศทางการกำหนดนโยบายของผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อคำถาม

ในประเด็นนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถาม ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า

3.1 เหตุใดท่านจึงกล่าวให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่มีความขัดแย้งกันเองของนโยบายที่จะไม่สนับสนุนให้สถาบันการอาชีวศึกษาจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ทั้งที่อยู่ในห้วงเวลาที่ต่างกันไม่ถึง 1 เดือน เป็นการแสดงความจงใจใช่หรือไม่ที่จะละเว้นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ขอทราบรายละเอียด

3.2 จากคำให้การสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า "วิทยาลัยอาชีวะไม่จำเป็นต้องเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี เพราะบางแห่งอาจไม่มีความถนัดและครูไม่มีความพร้อม ควรปล่อยให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้จัดการเรียนการสอนเหล่านี้”

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบหรือไม่ว่า กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการกำหนดตำแหน่งคณาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการศึกษาระดับปริญญา ที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2558

หรือเป็นการแสดงความจงใจใช่หรือไม่ ที่จะละเว้นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายขอทราบรายละเอียด

4.ประเด็นการไม่สนับสนุนให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งอาจารย์สถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

จากการสืบค้นข้อมูลทราบว่า ปัจจุบัน ก.ค.ศ.ได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังอาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ทั้ง 23 แห่งแล้ว อีกทั้ง ก.ค.ศ.ยังได้เห็นชอบมาตรฐานตำแหน่งคณาจารย์และมาตรฐานภาระงานทางวิชาการ ตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแล้ว

ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับ ก.ค.ศ.ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบมาตรฐานตำแหน่งแล้ว และอนุมัติหลักเกณฑ์วิธีการการเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวในครั้งที่ 1 แล้วนำมาปรับปรุงเสนอเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2563

ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหา

ในการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 2 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานที่ประชุม ได้มีคำถามต่อฝ่ายเลขานุการว่า เหตุใดจึงต้องมีตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งในที่ประชุมไม่มีกรรมการผู้ใดที่จะตอบคำถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประธาน

ส่งผลให้การให้การได้มาซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีความล่าช้าออกไป กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ความก้าวหน้าทางตำแหน่งวิชาการของบุคลากร และความพร้อมในด้านคุณภาพทั้งผู้สอนและผู้เรียน

ทั้งที่มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้มีบทบัญญัติให้มีการกำหนดตำแหน่ง อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ โดยกำหนดให้มีในหน่วยงานการศึกษาที่สอนระดับปริญญาไว้แล้ว อีกทั้งมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ก็กำหนดไว้เช่นเดียวกัน

ข้อคำถาม

ในประเด็นนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถามถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า

4.1 ท่านมีความจงใจที่จะไม่สนับสนุนให้มีหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ หรือเจตนาประวิงเวลาขอทราบรายละเอียด

4.2 จากข้อ 4.1 หากท่านสนับสนุนและไม่มีเจตนาที่จะละเว้นหรือประวิงเวลา ขอตั้งกระทู้ถามท่านว่า ท่านจะเร่งรัดการดำเนินการให้มีหลักเกณฑ์วิธีการดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาใด ขอทราบรายละเอียด

ทั้งนี้ ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)