ส่อง” บิ๊กขรก.ระดับสูงเกษียณ 30 ก.ย. 66 ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กับ ปมเดือด ภูมิธรรม พท.”เรียกร้องยุติแต่งตั้งโยกย้าย

 

ส่อง” บิ๊กขรก.ระดับสูงเกษียณ 30 ก.ย. 66 ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กับ ปมเดือด 'ภูมิธรรม พท.”เรียกร้องยุติแต่งตั้งโยกย้าย

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ในนามพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ ยุติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงทุกตำแหน่ง เนื่องจากเป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่จะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น

 

 

จากการสำรวจ สำนักข่าวedunewssiam ข้าราชการระดับสูงที่จะเกษียณอายุราชการ ในกระทรวงต่าง ๆ วันที่ 30 ก.ย.2566 พบว่ามีจำนวนถึง 57 ราย ทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม สรุปดังต่อไปนี้

 

ผู้บัญชาการทหารเหล่าทัพ ที่เกษียณอายุฯ 4 ตำแหน่ง กระทรวงการคลัง 7 ตำแหน่ง  กระทรวงพลังงาน 3 ตำแหน่ง กระทรวงพาณิชย์ 4 ตำแหน่ง กระทรวงอุตสาหกรรม 6 ตำแหน่ง กระทรวงคมนาคม 1 ตำแหน่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 8 ตำแหน่ง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2 ตำแหน่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  5 ตำแหน่งกระทรวงแรงงาน (รง.) 5 ตำแหน่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 ตำแหน่ง กระทรวงยุติธรรม  5 ตำแหน่ง

 

โดยเฉพาะ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวง, นายทวีศักดิ์ เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการ, นางสาวเจริญวรรณ หนูนาค ผู้ตรวจราชการ, นางสุปราณี นฤนาทนโรดม ผู้ตรวจราชการ, นายพีระศักดิ์ รัตนะ ผู้ตรวจราชการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

 

รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยกับสื่อว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 รับทราบเกี่ยวกับแนวทางการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในช่วงที่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการและยังไม่มี ครม.ชุดใหม่ โดยนายวิษณุ ระบุว่า รัฐบาลรักษาสามารถแต่งตั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวงทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการได้

 

"... เนื่องจากในเดือน ก.ย.2566 จะมีข้าราชการระดับปลัดกระทรวงเกษียณอายุราชการ จึงมีแนวทางให้รัฐมนตรีว่าการในกระทรวงที่มีปลัดกระทรวงเกษียณอายุราชการ สามารถเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่เพื่อมาทำหน้าที่แทนปลัดกระทรวงที่เกษียณอายุเพื่อให้ ครม.พิจารณาได้”

 

เมื่อ ครม. พิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยจะสามารถแต่งตั้งได้เฉพาะปลัดกระทรวงที่จะเกษียณเท่านั้น ไม่สามารถแต่งตั้งอธิบดีในกรมต่าง ๆ ที่จะเกษียณอายุราชการได้

 

ส่วนตำแหน่งนักบริหารระดับสูงที่เป็นระดับซี 11 อื่น ๆ เช่น เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สามารถเสนอแต่งตั้งรองเลขาธิการได้  เนื่องจากเลขาธิการเป็นตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวง" นางณัฐฏ์จารี ระบุ

 

นางณัฐฏ์จารี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ในส่วนการเสนอตั้งอธิบดีแทนตำแหน่งที่จะว่างลงนั้น ให้ปลัดกระทรวง ที่อยู่ในตำแหน่งสามารถแต่งตั้งอธิบดีได้ แต่หากเป็นกระทรวงฯที่ปลัดจะเกษียณอายุราชการ จะไม่สามารถแต่งตั้งอธิบดีได้ จนกว่าจะมีปลัดกระทรวงฯคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งก่อน และคงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง หากจะให้ปลัดกระทรวงฯที่จะเกษียณอายุเป็นคนที่แต่งตั้งอธิบดีไว้ในลักษณะทิ้งทวน

 

 

รายงานข่าวแจ้งอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงกรอบเวลาการได้มาซึ่ง ครม.ใหม่ โดยในครั้งนั้นมีการประเมินว่า ครม.ชุดรักษาการที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 ส.ค. 2566 นี้ และคาดหมายว่าหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค.2566

 

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกประธานรัฐสภา และกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป โดยคาดการณ์ว่าจะเลือกนายกฯได้ในวันที่ 3 ส.ค. 2566 และตามกระบวนการน่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในการตั้ง ครม. และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของ ครม.ชุดรักษาการปัจจุบัน

 

จนปัจจุบันล่วงเลยมาถึง 17 ส.ค. ปรากฏว่าที่ประชุมสภาฯ ก็ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ ทำให้ยังไม่มี ครม.ชุดใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มีเนื้อหาว่า...

 

“คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือ พนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน”

 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นจำนวนข้าราชการระดับสูง 57 ราย ตั้งแต่ 'ผู้บัญชาการเหล่าทัพ' ไปจนถึงข้าราชการระดับ 'ปลัดกระทรวง' และ 'อธิบดี' ที่จะเกษียณอายุฯในวันที่ 30 ก.ย.2566 ก่อนที่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 'ภูมิธรรม เวชยชัย' จะออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการยุติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงทุกตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตตามมาว่า การเรียกร้องของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ในนามพรรคเพื่อไทย ค่อนข้างจะเข้มข้นไม่เพียง โพสต์เฟซบุ๊กถึงรัฐบาลรักษาการ ที่มี พลเอกประยุทธ จันทรโอชา เป็นหัวหน้ารัฐบาล ควรปฏิบัติตามธรรมเนียม คือ ยุติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ที่จะส่งผลต่อการผลักดันนโยบายของรัฐบาลใหม่

 

ตามมาด้วยความดุดันที่ส่งสัญญาณถึงบรรดาปลัดกระทรวงฯ ทุกแห่ง ฉุกคิดถึงการเดินหน้าผลักดันนำเสนอใครต่อใครให้ก้าวสู่ตำแหน่งใหญ่ ๆ ได้บ้าง ที่ว่า...

 

"ผมไม่ได้ไปสั่งปลัดกระทรวงหรือสั่งใคร ผมเพียงแค่ เสนอท่านปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ว่า วันนี้รัฐบาลใหม่กำลังจะมาแล้ว จะต้องมีนโยบายใหม่ที่แถลงต่อสภา ดังนั้น พวกท่านคือหัวขบวนของกลไกใหญ่ ท่านสามารถชะลอเพื่อให้กลไกนั้น..."

 

ถ้าท่านปลัดกระทรวงใดไม่ฟัง และเมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะส่งผลเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่อย่างใด .

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage