ราชภัฏสงขลา ลงพื้นที่ ต.สนามชัยพัฒนาทักษะป้องกันสมองเสื่อมในผู้สูงอายุฯ

 

 

 

 

คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.สนามชัย อ.สทิงพระ จัดอบรมพัฒนาทักษะการป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุสำหรับตนเองและผู้ดูแล คณาจารย์สาธารณสุขชุมชนนำทีมถ่ายทอดความรู้ สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยเหลือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาทักษะการป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุสำหรับตนเองและผู้ดูแล” ณ ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย อ.สทิงพระ จ.สงขลา นำทีมโดยคณาจารย์สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน เพื่อให้ความรู้กับผู้ดูแลและผู้สูงอายุในชุมชนเกี่ยวกับการป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อม และเพื่อประเมินผลการดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้อย่างสมดุลและเหมาะสม สามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน ในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน

 

 

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงสานต่อโครงการในพระราชดำริของพระราชบิดา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรี ไว้ตอนหนึ่งว่า “...ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน...” ดังนั้น ในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างอาชีพและการดูแลผู้สูงอายุ อ.สทิงพระ จ.สงขลา

 

 

ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชนฐานราก เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมแบบบูรณาการ

 

 

การจัดอบรมในครั้งนี้มุ่งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มคุณค่าและมูลค่าเสริมเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชุมชนหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งให้ความรู้ และเป็นที่พึ่งพิงทางวิชาการ

 

 

มีบุคลากร นักวิชาการที่มีศักยภาพในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนที่พร้อมจะขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง