สสส. หนุนชุมชนท้องถิ่น รู้-รับ-ปรับตัว สู่เศรษฐกิจชุมชนจับต้องได้ สานพลังภาคี นำร่อง 3 พื้นที่ นครพนม จันทบุรี พังงา

 

สสส.-เซ็นทรัล-วิสาหกิจเพื่อสังคม สานพลังแก้ไขปัญหา-รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชนท้องถิ่น นำร่อง 3 พื้นที่ นครพนม-จันทบุรี-พังงา หนุนชุมชนท้องถิ่นรู้-รับ-ปรับตัว ฟื้นฟูที่ทำกิน สร้างพื้นที่สีเขียว สู่เศรษฐกิจชุมชนที่จับต้องได้-ชุมชนท้องถิ่นได้ประโยชน์ ที่ เทศบาลตำบลชากไทย อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท อัตถจริยา จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านชากไทย บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จัดเวที “การจัดการความรู้ และแลกเปลี่ยนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชนท้องถิ่น” และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาเครือข่ายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชน (Community Climate Action: CCA)

 

 

ดร.นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนองค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เทศบาลตำบลชากไทย และเครือข่าย

 

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชุมชนท้องถิ่นรู้-รับ-ปรับตัว ผ่านสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือ ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ศปก.) และเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน โดยใช้ข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรม อาสาสมัคร ร่วมกันออกแบบแนวทางการทำงานฟื้นฟู ตั้งแต่ต้นน้ำ คือแหล่งที่ทำกิน แหล่งอาหาร ผลผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สู่ปลายน้ำ คือการสร้างรายได้เลี้ยงครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

 

 ปัจจุบันมี ศปก. ที่นำร่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3 แห่ง ได้แก่ 1. จ.นครพนม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักสวนครัวบ้านสองคอน มีเครือข่ายในพื้นที่ 4 แห่ง และภายนอกพื้นที่ 3 แห่ง 2. จ.จันทบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านชากไทย มีเครือข่ายในพื้นที่ 4 แห่ง โดยดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล และภายนอกพื้นที่ 4 แห่ง 3. จ. พังงา กลุ่มประมงพื้นบ้านท่าปากแหว่งพัฒนาหมู่ 11 มีเครือข่ายในพื้นที่ 6 แห่ง และภายนอกพื้นที่ 2 แห่ง ซึ่งการ MOU ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการทำงาน และส่งต่อขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ” ดร.นพ.พิศิษฐ์ กล่าว

 

 

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มประมง ที่ผลผลิตน้อยลง สอดคลอดกับ GDP ด้านการเกษตรที่หดตัวลง

 

โดยดัชนีความร้อนเป็นความท้าทายใหม่ของชุมชนท้องถิ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (จากภาวะโลกร้อนเป็นภาวะโลกเดือด) ที่มีผลมาจากการกระทำ หรือกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล บุกรุก เผาป่า และการเกษตร/ปศุสัตว์ ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดผลกระทบ อาทิ ปริมาณน้ำฝนที่ผันผวน ฤดูร้อนที่ยาวนานมากขึ้น พืชเติบโตช้า ผลผลิตภาคเกษตรเสียหายรุนแรง และที่สำคัญส่งต่อกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนที่เรียกว่าฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด

 

สสส. จึงได้สานพลังชุดเครื่องมือและองค์ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย 1. ด้านพื้นที่ปฏิบัติการโดย “ศูนย์ปฏิบัติการ” 2. ด้านวิชาการ โดย คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 3. ด้านเศรษฐกิจชุมชน และช่องทางการตลาด โดย เซ็นทรัลทำ 4. ด้านเทคโนโลยี โดย บริษัท อัตถจริยา จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถรับมือ และจัดการปัญหาสภาพอากาศในชุมชนท้องถิ่นได้อย่างครอบคลุม

 

 

 

นายพลาย ภิรมย์ ผู้อำนวยการอาวุโสการจัดการสิ่งแวดล้อม และพลังงาน บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการเซ็นทรัลทำร่วมกับภาคีเครือข่าย สู่เป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่เกษตรที่มีสำคัญทางระบบนิเวศ อาทิ จันทบุรี นครพนม พังงา น่าน ชัยภูมิ เชียงใหม่ และอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคุณภาพดินเสื่อมโทรมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โดยการเพิ่มการปลูกไม้ยืนต้น อาทิ ไม้ป่า ไม้ผล และการทำเกษตรฟื้นฟู การฟื้นฟูแหล่งน้ำและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ที่จะสร้างทุนทางธรรมชาติในการสร้างเศรษฐกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศเกษตร สร้างสุขภาวะที่ดีของชุมชน และชุมชนมีความยืดหยุ่นปรับตัวพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวิกฤตรุนแรงมากขึ้นทุกปี รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์

 

รวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่า และช่องทางการตลาดเชื่อมสู่ผู้บริโภค ตอบโจทย์ความต้องการตลาดการบริโภคสินค้าอาหารและการบริการ ที่ต้องการสินค้าที่ลดคาร์บอนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 

นายเรวัต นิยมวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านชากไทย อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี กล่าวว่า เทศบาลตำบลชากไทย มี 8 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 54,100 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยวิสาหกิจกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านชากไทย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 5,214 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะหมู่บ้าน 190 ไร่

 

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลูกคลื่น และลาดชัน มีเขาชากไทยเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยการหาของป่า เช่น สมุนไพร พืชที่เป็นอาหาร เป็นต้น รายได้ส่วนใหญ่ของพื้นที่มาจากการอาชีพเกษตรกรสวนผลไม้ แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้ผลผลิตลดลง และไม่ได้มาตรฐาน เกิดภัยแล้ง

 

จึงเกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการจัดการบริหาร พัฒนาองค์ความรู้ มีเทศบาลตำบลชากไทยหนุนเสริม โดยกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านชากไทย เป็นศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ที่ทำหน้าที่รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนดำเนินการพัฒนาเครือข่ายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายแก้ปัญหาให้กับชุมชนของตนเอง และท้องถิ่นอื่น ๆ ต่อไป