นพ.วิจารณ์ เฉลย!!หน่วยวัดประเมินผลระดับชาติ เป็นตัวการทำร้ายการศึกษาโดยไม่รู้ตัว

 

นพ.วิจารณ์ เฉลย!!หน่วยวัดประเมินผลระดับชาติ เป็นตัวการทำร้ายการศึกษาโดยไม่รู้ตัว 

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

 

...กระทรวงศึกษาธิการ ลงทุนลงแรงดำเนินการเพื่อหาทางยกระดับผลการทดสอบ PISA คราวหน้านั้น เป็นการดำเนินการแบบหลงทาง เพราะตา (สมอง) บอด ไม่ได้แก้ปัญหาที่สมุฏฐาน (root cause) ของปัญหา คือการเรียนแบบเน้นให้เกิดการคิดขั้นสูง (higher order thinking) ที่เป็นเป้าหมายของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑... 

                ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช (๙ มิ.ย. ๖๗)

 

เรื่องราวความสำเร็จของ ผอ. เนาวะรัตน์ ถาวร  โรงเรียนบ้านหนองแก  จังหวัดสระแก้ว ที่ผมไปรับฟังในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสระแก้ว เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ยังก้องอยู่ในหัว(สมอง)ของผมตลอดมา แม้เวลาจะผ่านมาแล้วสิบวัน    

 

เป็นปรัศนีย์เพื่อการค้นหาต้นเหตุ (root cause) ของความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทยในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ที่พยายามแก้อย่างไรก็ไม่สำเร็จ ผมได้พยายามค้นหาจุดความลับนี้มาตลอด และวาบคิดขึ้นในวันที่ ๑ มิถุนายน ว่าน่าจะมีเรื่องระบบการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดำเนินการโดยหน่วยวัดประเมินผลการศึกษาระดับชาติเป็นตัวการ ที่ทำโดยไม่รู้ตัว  

 

นั่นคือ ระบบการประเมินผลลัพธ์การศึกษาของไทย เน้นสอบความจำ  

 

 

เครื่องมือ ๔ สี ช่วยการอ่านของนักเรียนประถม ของท่าน ผอ. เนาวะรัตน์ คือ เครื่องมือช่วยความจำ นักเรียนเหล่านี้ได้รับการฝึกความจำอย่างดีเลิศ และเอาไปใช้ในวิชาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาได้ด้วย เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ก่อผลดีอย่างแน่นอน  

 

 

แต่มีคำถามว่า มันทำให้นักเรียน (และครู) มุ่งแต่การเรียนรู้ในระดับล่าง ๆ ของ Bloom’s Taxonomy คือ แค่ความจำและความเข้าใจ หรือไม่ หากข้อสอบวัดผลระดับชาติเน้นที่การแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์ นักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองแกจะสอบได้คะแนนสูงในทุกวิชา ในระดับสองเท่าของคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ อย่างที่เห็นหรือไม่  

 

ผมไม่มั่นใจในข้อคิดข้างบนของตนเอง ว่าจะถูกต้องหรือไม่ จึงนำไปปรารภถามความเห็นของนักการศึกษาชั้นยอดของประเทศจำนวนหนึ่งในการประชุมแบบสานเสวนากันที่โรงเรียนสตรีวิทยา ช่วงเช้าวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๗

 

ท่านเหล่านี้เป็นผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการของโรงเรียนมัธยมศึกษาชั้นนำของประเทศ ก็ได้ความเห็นว่า เป็นคำถามสำคัญ ที่ควรมีการดำเนินการหาคำตอบ

 

 

ประเด็นสำคัญยิ่ง คือ หากปล่อยทิ้งไว้ให้ดำรงสภาพนี้ต่อไป จะเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้คุณภาพการศึกษาไทยกระเตื้องขึ้นเมื่อทดสอบด้วยการทดสอบนานาชาติอย่าง PISA   

 

ซึ่งหมายความว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการ ลงทุนลงแรงดำเนินการเพื่อหาทางยกระดับผลการทดสอบ PISA คราวหน้านั้น เป็นการดำเนินการแบบหลงทาง เพราะตา (สมอง) บอด ไม่ได้แก้ปัญหาที่สมุฏฐาน (root cause) ของปัญหา คือ การเรียนแบบเน้นให้เกิดการคิดขั้นสูง (higher order thinking) ที่เป็นเป้าหมายของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ 

 

  

 

ในเมื่อโรงเรียนต่าง ๆ ของไทย ถูกชักจูงให้จัดการเรียนรู้เพื่อเป้าหมายผลสอบที่เน้นสอบความจำ แล้วนักเรียนจะสอบ PISA ที่เน้นสอบความคิดขั้นสูง ให้ได้คะแนนสูงได้อย่างไร  

 

การสอบ PISA ได้คะแนนสูง ไม่สำคัญเท่ากับการที่เยาวชนได้พัฒนาสมรรถนะพื้นฐานใส่ตัวเป็นอย่างดี เพื่อเติบโตไปเป็นพลเมืองคุณภาพสูง ทำหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาบ้านเมืองต่อไปในอนาคต

 

 

หากปรัศนีนี้ ได้รับคำตอบไปในแนวทางที่ผมมีความเชื่อ เราก็มีเครื่องมือช่วยอยู่แล้ว มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งทำอยู่แล้ว มีครูจำนวนหนึ่งที่รู้วิธีสอน (แบบไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้) อยู่แล้ว และมีวิทยากรไทยที่จะทำหน้าที่จัดการฝึกปฏิบัติการขยายผลสู่ครูและโรงเรียนอื่น ๆ อย่างรวดเร็วได้อยู่แล้ว

 

โดย กสศ. สนับสนุนให้มีการฝึกปฏิบัติการในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ๓ แบบ คือ Active Learning Workshop, Dialogic Teaching Workshop  และ Multilingual Teaching Workshop  รวมทั้งขณะนี้กำลังพัฒนาและทดลอง Thai PILA Workshop  

 

เครื่องมือเหล่านั้น ผมตีความว่า เป็นเครื่องมือสำหรับใช้จัดการเรียนรู้เชิงรุก  ที่จะนำสู่การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงของผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาทักษะแห่งอนาคตอื่นๆ  พัฒนาคุณลักษณะ และพัฒนาค่านิยมหรือคุณธรรมไปพร้อมๆ กันในกระบวนการเดียว   เป็นการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วน หรือการเรียนรู้แบบบูรณาการ   เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมนั่นเอง

 

คุณภาพการศึกษาไทย จะกระเตื้องขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาของชาติจะเข้ามาใช้เครื่องมือเหล่านี้หรือไม่