ฟินแลนด์แนะโรงเรียน ‘จำกัดการใช้มือถือ’ บรรยากาศจะไม่ถูกรบกวน เพิ่มสมาธินักเรียน

 

ฟินแลนด์แนะโรงเรียน ‘จำกัดการใช้มือถือ’ บรรยากาศจะไม่ถูกรบกวน เพิ่มสมาธินักเรียน

 

วิชชา เพชรเกษม : EDUNEWSSIAM รายงาน

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ฟินแลนด์ ได้ปฏิรูประบบการศึกษาจนผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีระบบการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์สูงที่สุดในโลก ซึ่งนโยบายหนึ่งที่นำมาสู่ความสำเร็จและนำมาสู่ประหลาดใจ คือ การขอให้เด็กนักเรียนใช้เวลาที่โรงเรียนน้อย ทำการบ้าน และ สอบน้อยลง 

 

ดูแล้ว ช่างมีความย้อนแย้ง แต่ข้อมูลโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ระบุว่า  

 

นักเรียนในฟินแลนด์มีผลการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเฉลี่ยดีกว่าเด็กจากประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) 

 

ความสำเร็จนี้มีขึ้น ทั้งที่ช่วงก่อนสิ้นสุดยุคทศวรรษที่ 1960 ที่ฟินแลนด์เคยมีอัตราเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียง 10% เท่านั้น 

 

ล่าสุด สำนักข่าวซินหัวรายงาน — เมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.) องค์การการศึกษาระดับชาติแห่งฟินแลนด์ (EDUFI) แนะนำให้โรงเรียนสั่งห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือในลักษณะที่เป็นการรบกวนระหว่างคาบเรียน และจำกัดการใช้งานโทรศัพท์ในช่วงพัก เพื่อรับรองว่าบรรยากาศการเรียนการสอนจะไม่ถูกรบกวนและเพิ่มสมาธิของนักเรียน 

 

องค์การฯ ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.) แอนเดอร์ส อาดเลอร์ครูตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของฟินแลนด์ ระบุว่าอยู่ระหว่างจัดเตรียมกฎระเบียบ เพื่อจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือในห้องเรียนอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่  

 

หรือเพียงแค่มอบอำนาจแบบกว้าง ๆ ให้ครูผู้สอนจัดการการใช้งานโทรศัพท์มือถือในห้องเรียน และจะเผยแพร่แนวปฏิบัติโดยละเอียดหลังจากที่กฎระเบียบฉบับใหม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว   

 

แอนเดอร์ส อาดเลอร์ครูตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ยังไม่แน่นอนว่า จะประกาศใช้กฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งตัวเขามองว่ากฎที่ตั้งขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันทั่วฟินแลนด์

 

 

ทั้งนี้ การจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งในวาระการทำงานของรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของฟินแลนด์ภายใต้การนำ ของ เพตเตรี ออร์โป นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์

 

 

พร้อมย้ำความจำเป็นในการหารือและสร้างมาตรการเพื่อส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัลของเด็กและคนหนุ่มสาวในช่วงเวลาว่าง

 

ลอรา ฟรังค์ เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำองค์การฯ กล่าวว่าสถานศึกษา ควรสั่งห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างคาบเรียน และจำกัดการใช้งานโทรศัพท์ในช่วงพักให้สอดคล้องตามกฎระเบียบปัจจุบัน ขณะที่รอทางการออกกฎระเบียบฉบับใหม่

 

โดยขณะนี้ โรงเรียนหลายแห่งได้สั่งห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและดำเนินโครงการต้นแบบที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ซึ่งการแบ่งปันแนวทางความสำเร็จเหล่านี้ในวงกว้างขึ้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ 

 

เมื่อหันกลับไปมองถึงปรัชญาการให้ความสำคัญในคุณค่าของครู ระบบการศึกษาฟินแลนด์ ยังสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในห้องเรียนด้วย 

 

ในโรงเรียนทั่วไป ครูใช้เวลาในการสอนหนังสือวันละ 4 ชั่วโมง แน่นอนทำให้พวกเขาได้มีเวลาเตรียมการสอน นำความรู้ที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ และมีเวลาใส่ใจเด็กนักเรียนมากขึ้น วิชาชีพครูมีรายได้ดีพอสมควร และเงื่อนไขการทำงานก็ดีด้วย

 

  

ด้วยเหตุนี้ ครุศาสตร์ จึงกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่เยาวชนในฟินแลนด์นิยมเรียนมากสุด ที่แซงหน้าการเรียนเป็นแพทย์ นักกฎหมาย และสถาปนิก

 

นอกจากนี้ ชั่วโมงการเรียนของโรงเรียนในฟินแลนด์ ยังสั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในประเทศกลุ่ม OECD อื่น ๆ หรือ ราว 670 ชั่วโมงต่อปีสำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษา เป็นต้น

  

ขณะที่ คอสตาริกา มีชั่วโมงการเรียนมากกว่านี้เกือบสองเท่า ส่วนเด็กนักเรียนประถมในสหรัฐฯ และโคลอมเบีย มีชั่วโมงเรียนกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี

 

เอียร์ยา ชัค ครูที่โรงเรียน Viikki ในกรุงเฮลซิงกิ  บอกว่า "มันเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กจะมีเวลาได้เป็นเด็ก"  

 

"สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณของเวลาที่ใช้ในห้องเรียน" เธอกล่าว เด็กนักเรียนที่ฟินแลนด์ยังมีการบ้านน้อยกว่าด้วย 

 

ข้อมูลจาก OECD ระบุว่า เด็กอายุ 15 ปีในฟินแลนด์ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2.8 ชั่วโมง ตามด้วยเด็กในเกาหลีใต้ที่ใช้เวลา 2.9 ชั่วโมง  

 

ขณะที่เวลาทำการบ้านโดยเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่ม OECD คือ 4.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเป็น 13.8 ชั่วโมงสำหรับจีน 

 

"เด็กได้เรียนสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ในชั้นเรียน พวกเขามีเวลามากขึ้นในการอยู่กับเพื่อนและทำอย่างอื่นที่พวกเขาชอบ ซึ่งก็สำคัญเช่นกัน" มาร์ตตี เมรี ครูอีกคนกล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม การจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนของฟินแลนด์ น่าจะมีผลมาจากนโยบายการศึกษาของสวีเดน ที่รัฐต้องการทบทวนการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอน โดยหันไปฟื้นฟูการอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม ๆ และ ให้เด็กกลับไปคัดลายมือ 

 

ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มทักษะที่ขาดหายไปของเด็กยุคใหม่ แทนที่จะทุ่มเทเวลากับอุปกรณ์การเรียนการสอน ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยเหมือนบางประเทศ เนื่องจากความใกล้ชิดและความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศนี้