ย้อนรอย ตามไปดู ส้วมธรรมะ – ธรรมะในส้วม ร.ร.วัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี)

 

ย้อนรอย ตามไปดู ส้วมธรรมะ – ธรรมะในส้วม

ร.ร.วัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี) 

 

❝...เรื่องราวของส้วมในสถานศึกษา ไม่ใช่มีพียง โครงการ “สุขาดี มีความสุข”  ตาม นโยบาย “เรียนดีมีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ และ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มองไกลถึงการมีห้องน้ำที่สะอาดและเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อจะเรียนรู้ และ ส่งเสริมสุขภาพและความรู้สึกที่ดีให้กับนักเรียนและบุคลากร ทั้งทำให้สถานศึกษาเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสุข เท่านั้น... 

 

แต่ส้วมที่โรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี) จ.พระนครศรีอยุธยา เขตการศึกษา  สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 เปิดสอน : ระดับอนุบาล 1 – ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ปัจจุบัน มี นายแทน เฉลยไตร เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ต่อจาก นางจุฑามาศ รอดภัย อดีตผู้อำนวยคนก่อนหน้านี้ได้ทำ  “ส้วม” ของโรงเรียนแห่งนี้ เป็น "ส้วมธรรมะ-ธรรมะในส้วม"  ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สามารถต่อยอดเข้ากับ โครงการ “สุขาดี มีความสุข” ได้อย่างลงตัว 

 

 

ซึ่ง คุณไตรเทพ ไกรงู เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ รายวัน คม ชัด ลึก เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ปี 2556 ซึ่งปัจจุบัน ได้ปิดกิจการไปแล้ว เห็นว่ามีความน่าสนใจและเข้ากับ “โครงการ สุขาดี มีความสุข” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อย่างเหมาะเจาะลงตัว

  

หากผู้บริหารสถานศึกษาท่านใด อ่านแล้วเกิดไอเดียจะนำไปบูรณาการต่อยอด ก็จะเกิดประโยชน์หลายประการ ลองตามเรื่องราวกันได้เลย   

 

อดีต ผอ.จุฑามาศ รอดภัย บอกเล่าให้ฟังว่า ด้วยเหตุที่เป็นโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี) เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ โดยนักเรียนระดับ ป.๔ ขึ้นไป ทุกคนต้องเรียนธรรมะศึกษา โดยทางโรงเรียนได้เขียนไว้ในหลักสูตรการเรียน

 

ขณะเดียวกันท่านพระครูพิสุทธิ์บุญสาร เจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่เก่งมาก ทุกครั้งที่ได้พบท่านก็จะได้รับธรรมะเล็ก ๆ น้อย ๆ จากท่าน ทำให้รู้สึกดีและมีความสุข จึงมีแนวความคิดว่าทำอย่างไรจะให้เด็กได้ซึมซับธรรมะโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันอยากให้เด็กได้รับธรรมะตั้งแต่แรกเริ่มเข้าโรงเรียน ในลักษณะค่อยซึมเข้าไปในสายเลือด

 

อีกทั้ง "ส้วมธรรมะ-ธรรมะในส้วม" นั้น โรงเรียนจึงได้นิมนต์พระครูสุทธิปัญญาโสภณ เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง มาเป็นที่ปรึกษา ด้วยเหตุที่ท่านพัฒนาวัดพร้อม ๆ กับปรับปรุงส้วม ซึ่งเดิมเคยเป็นวัดร้างมาก่อน

 

จากแนวคิดที่ว่า เพื่อให้ญาติโยมที่เข้ามาทำบุญ ซึ่งประกอบไปด้วยคนทุกระดับ ได้มีความพึงพอใจในบริการส้วมสะอาดของวัด เพื่อให้มีความสุข ความสบายใจที่ได้ใช้ส้วมสะอาด

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

“ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ก่อนที่จะมีการพัฒนาส้วม นอกจากความสกปรกแล้ว ที่เห็นเป็นเรื่องปกติ คือ การเขียนระบายอารมณ์บนประตู และผนังส้วม แต่ทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว โดยได้เปลี่ยนให้เขียนระบายอารมณ์ลงในกระดาษแล้วใส่ในตู้ระบายอารมณ์

 

ซึ่งเดิมทีต้องยอมรับว่าไม่มีใครเคยใส่ใจข้อความบนผนังส้วม แต่เมื่อได้อ่านทุก ๆ ข้อความ ทำให้พบว่าเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่เด็กต้องการบอกและระบายอะไรบางอย่าง สามารถนำไปใช้แก้ไขปรับรุงโรงเรียนได้อย่างหนึ่ง” อดีต ผอ.จุฑามาศ พูดน่าคิด

 

"เราใช้ห้องน้ำเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะ การได้อ่านธรรมะเล็กๆ น้อยๆ นอกจากทำให้เด็กรู้สึกไม่เบื่อแล้ว เด็กยังซึมซับรับธรรมะเข้าไปอยู่ในสายเลือดอย่างไม่รู้ตัว ห้องน้ำเป็นสถานที่ปลดทุกข์ เป็นสถานที่สงบแห่งหนึ่ง ใครได้เข้าแล้วมีความสุข การได้ธรรมะเล็กๆ น้อยๆ เท่ากับความเป็นการเติมเต็มความสุขให้มากยิ่งขึ้น" อดีต ผอ.จุฑามาศ กล่าว

 

 

 

อย่างไรก็ตามด้วยความตั้งใจทำส้วมให้ให้เป็น "ส้วมธรรมะและมีธรรมะในส้วม" ในที่สุดส้วมของโรงเรียนวัด ได้รับรางวัล "สุดยอดแห่งส้วมระดับประเทศ"

 

นางจุฑามาศ ได้ให้ข้อคิดว่า การทำส้วมให้สะอาดและเป็นส้วมสอนธรรมะนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุน หากนักการภารโรง ครู ครูใหญ่ รวมทั้งผู้อำนวยการของโรงเรียนนั้น ๆ พัฒนาส้วมที่มีอยู่ให้เป็นส้วมธรรมะใช้เงินเพียงเล็กน้อยก็ทำได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างส้วมใหม่

 

อดีต ผอ.จุฑามาศ ยังบอกด้วยว่า เมื่อส้วมของโรงเรียนวัดใหญ่ได้รับรางวัล ก็ส่งผลต่อส้วมของครูน้อยที่โรงเรียนได้กลับไปดูส้วมที่บ้าน ขณะเดียวกันเมื่อผู้ปกครองมาโรงเรียนได้เห็นส้วมของโรงเรียนถูกสุขอนามัยก็ กลับไปพัฒนาทำความสะอาดส้วมที่บ้าน แม้ว่าที่นี่จะมีแม่บ้านและนักการภารโรง

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

แต่เรื่องความสะอาดของส้วมต้องเป็นหน้าที่ของเด็ก โดยแต่ละชั้นต้องจัดเวรมาทำความสะอาด ทั้งนี้ แม่บ้านและนักการภารโรงจะมาดูแลซ้ำในส่วนของรายละเอียดเท่านั้น"

 

ในการจัดทำ "ส้วมธรรมะและมีธรรมะในส้วม" ผอ.จุฑามาศ บอกว่า เริ่มต้นจากการตั้งชื่อห้องน้ำ โดยมีแนวความคิดว่า "ทำอย่างไร ให้เด็กรู้คำและความหมายที่เป็นหลักธรรมทางพุทธศาสนา" ขณะเดียวกันต้องไม่ยากและหนักเกินไป ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการประกวดแข่งขันตั้งชื่อ ด้วยเหตุที่ห้องน้ำมีทั้งหมด ๕ หลัง

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

หลายคนส่งชื่อที่เป็นศีล ๕ ข้อ แม้จะครบทั้ง ๕ หลัง แต่หลักธรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่หนักเกินไปที่เด็กระดับอนุบาล ประถมจะรับรู้ศีล ๕ เป็นเรื่องห้ามทำความชั่วต่าง ๆ ซึ่งเด็กบางคนยังไม่รู้อะไรมาก จึงคิดว่าน่าจะเป็นหลักธรรมเกี่ยวการทำความดีมากกว่า น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์มากกว่า ในที่สุดก็มาลงหลักธรรม พรหมวิหาร ๔

 

ซึ่ง ความหมาย ของ พรหมวิหาร คือ ธรรมของพรหม หรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและ บริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ ได้แก่

 

 

 

เมตตา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ ใช้ตั้งชื่อห้องน้ำของเด็กเล็กและเด็กอนุบาล เพราะเด็กในวัยนี้ควรสอนเรื่องให้มีเมตตาน่าจะเหมาะสมที่สุด โดยจะเขียนอธิบายความหมายไว้อย่างง่ายๆ เมื่อสอนการใช้ห้องน้ำ ครูก็จะอธิบายธรรมในหัวข้อเมตตาด้วย

 

กรุณา หมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน เป็นชื่อห้องน้ำของเด็กชั้นประถมต้น (ป.๑-ป.๓)

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา (ป.๔-ป.๖)

 

อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย การวางใจเป็นกลาง เพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติม เขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นชื่อห้องน้ำของเด็กชั้นมัธยมต้น (ม.๑-ม.๓) ชาย

 

ส่วนหลังที่ ๕ ใช่ชื่อว่า "หิริโอตัปปะ" หมายถึง ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นหลักที่คอยเตือนใจเมื่อเราจะทำบาปทั้งปวงความละอายและเกรงกลัวต่อบาป นั่นเอง หลักธรรมและหลักการนี้จะคอยเป็นหลักกระตุ้นเตือนเมื่อเราจะประพฤติปฏิบัติใน สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่เป็นกุศล ถ้าเรามีหลักธรรมนี้อยู่ในใจ เราจะมีสำนึกและละการกระทำนั้นเสีย เป็นชื่อห้องน้ำของเด็กชั้นมัธยมต้น (ม.๑-ม.๓) หญิง

 

 

ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กในโรงเรียนให้มีคุณภาพ ทำให้ ผอ.จุฑามาศ ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ

 

เกียรติบัตรและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "ครุฑทองคำ" ในฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ.๒๕๕๐ จากนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๖

ได้รับรางวัล "ทิชเชอร์ อวอร์ด" สาขาการบริหารโรงเรียนประจำปี ๒๕๔๖ จากสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอพระนครศรีอยุธยา

และได้รับคัดเลือก จาก กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับประถมศึกษา ขนาดเล็ก ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

เรื่องราวของ ส้วมธรรมะ-ธรรมะในส้วมที่...โรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล (ภาวนารังสี) จ.พระนครศรีอยุธยา เขตการศึกษา  สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้สถานศึกษาใน โครงการ “สุขาดี มีความสุข”ตาม นโยบาย “เรียนดีมีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นำไปรังสรรค์ต่อยอดได้เป็นอย่างดี