สุขาดี มีความสุข กับ ห้องน้ำเด็กปฐมวัย สู่การเรียนรู้ เติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

สุขาดี มีความสุข กับ ห้องน้ำเด็กปฐมวัย

สู่การเรียนรู้ เติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

...โครงการสุขาดี มีความสุข ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ภายใต้ นโยบาย เรียนดีมีความสุข โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสำคัญในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน ในสภาพแวดล้อมที่ สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม ที่เอื้อต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความสุขของนักเรียนในสถานศึกษาขนาดเล็ก (นักเรียน 10-80 คน) จำนวน 9,698 โรงเรียน ด้วยงบฯโรงเรียนละ 10,000 บาท...

 

ขณะเดียวกัน โรงเรียนทั่วไปสามารถใช้เงินรายได้ของสถานศึกษาหรือเงินอื่นๆ ที่โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้

 

เท่ากับเป็นการตอบรับ จากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ว่ามีความต้องการให้ปรับปรุงเรื่องใดภายในโรงเรียน และผลการสำรวจส่วนใหญ่ พบว่า นอกจากได้เรียนในห้องเรียนที่ดี มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์กับครูผู้สอนแล้ว สิ่งที่นักเรียนต้องการมากที่สุด คือ ให้มีการปรับปรุงห้องน้ำ สพฐ. จึงนำความต้องการของนักเรียนมาดำเนิน โครงการ “สุขาดี มีความสุข”

 

 

และแน่นอนว่า โครงการนี้ครอบคลุมไปถึงกับการสร้างมาตรฐานห้องน้ำสำหรับเด็กปฐมวัยที่ปลอดภัย สะอาด ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้ อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ เด็กมีสุขภาพดี สุขอนามัยที่ถูกต้อง สามารถมุ่งเน้นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่  

 

ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมในอนาคต ซึ่งโครงการนี้จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพในโรงเรียน โดยนักเรียนจะเรียนรู้ถึงความสำคัญของการดูแลตนเองและผู้อื่น  

 

อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวจำเพาะเฉพาะห้องน้ำเด็กปฐมวัย แม้จะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สร้างความสนุกสนานให้กับเด็ก และแม้จะมีการดูแลอย่างเหมาะสม ห้องน้ำก็ยังอาจมีอันตรายที่อาจทำให้บุตรหลานของเราตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งจากอุบัติเหตุในห้องน้ำและจากเชื้อโรคต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

 

 

ดังนั้น เรามาดูมาตรฐานห้องน้ำสำหรับเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ จะมีหลักการปฏิบัติ ดังนี้  

 

ห้องน้ำมีการแยกสัดส่วนชัดเจน ห้องน้ำสำหรับเด็กจะต้องแยกห้องส้วม ที่ล้างมือ และบริเวณที่แปรงฟัน โดยบริเวณที่แปรงฟันควรแยกเป็นสัดเป็นส่วน มีขนาดเหมาะสมกับตัวเด็ก หากมีก๊อกน้ำน้อย ควรมีถังสะอาดใส่น้ำและมีภาชนะสำหรับการใช้ตักน้ำจากถังให้เด็ก

 

กรณีจัดสถานที่แปรงฟันเป็นโครงสร้างถาวร ควรมีจำนวนก๊อกน้ำที่เหมาะสมและเพียงพอ มีกระจกหลังอ่างน้ำ เป็นประโยชน์ในการช่วยสอนเด็กแปรงฟัน การที่เด็กเห็นตัวเองจากกระจกจะกระตุ้นให้เด็กอยากแปรงฟันและแปรงฟันได้นานขึ้น

 

มีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น สบู่ น้ำยาล้างมือ พร้อมใช้ตลอดเวลา อ่างล้างมือมีความสูงพอดีกับตัวเด็ก

 

มีป้ายบอกห้องน้ำ แยกชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ ให้เห็นเด่นชัด โถส้วมมีขนาดเหมาะสมกับตัวเด็ก และมีจำนวนเพียงพอ แต่หากโถส้วมมีขนาดไม่พอดี สามารถแก้ไขด้วยการเพิ่มที่รองนั่งสำหรับเด็ก การเพิ่มบันไดหรือเก้าอี้เตี้ยให้เด็กก้าวขึ้นนั่งบนโถส้วม

 

นอกจากนี้ ยังช่วยให้เด็กรู้สึกสบายใจปลอดภัย เท้าไม่ลอยจากพื้น และไม่มีน้ำขังแฉะ ไม่มีคราบสกปรก

 

 

สะอาดถูกสุขลักษณะ ห้องน้ำสำหรับเด็กสำคัญที่สุดต้องสะอาดถูกสุขลักษณะ ไม่มีกลิ่นอับ อากาศถ่ายเทได้ดี มีการทำความสะอาดห้องน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

 

มีระบบดูแลความสะอาด บันทึกการทำความสะอาดห้องน้ำ สถานที่แปรงฟัน และที่ล้างมือ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และมีอุปกรณ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม เช่น สบู่เหลวและผ้าเช็ดมือ โดยตรง

 

 

ความปลอดภัย ห้องน้ำควรอยู่ภายในอาคาร โถสุขภัณฑ์หรือชักโครกแยกจากกัน ลบเหลี่ยมลบมุมเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า พื้นผิวจะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น และมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยจับ เพื่อป้องกันการลื่นล้ม อีกทั้งเด็กมักมีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น อาจเล่นกับน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ไม่คาดฝัน   

 

จัดเก็บน้ำยาทำความสะอาดและอุปกรณ์ที่เป็นอันตรายให้ห่างจากมือเด็ก ไว้ในที่มิดชิด สามารถปิดล็อกได้ หรืออยู่สูงพ้นมือเด็ก ตรวจสอบประตูห้องน้ำให้เปิดและปิดได้ง่ายประตูต้องไม่ใส่กลอน ผู้ดูแลสามารถมองเห็นเด็กและเข้าสู่ภายในได้ง่าย แสงสว่างเพียงพอไม่มืดทึบ และไม่ควรมีที่เก็บกักน้ำ เช่น ตุ่มน้ำ อ่างน้ำ หรืออื่นๆ  

 

 

นอกจากนี้ การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย เช่น การติดตั้งสื่อการสอนเกี่ยวกับการล้างมือและสุขอนามัยในห้องน้ำ เพื่อเสริมสร้างความรู้และการทำความเข้าใจในเด็กเพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ จะทำให้การดำเนินโครงการสุขาดี มีความสุข จะมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

 

เพียงง่าย ๆ เท่านี้ เราก็จะมีห้องน้ำสำหรับเด็กเล็กที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติสำหรับเด็กปฐมวัยทุกคน เท่ากับเป็นการยกระดับการพัฒนาให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

 

ดังนั้น การสร้างมาตรฐานห้องน้ำสำหรับเด็กปฐมวัย ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสนใจ เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถใช้ห้องน้ำได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ