องคมนตรีติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9

 

 

 

 

 

วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 09.15 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงหนองเจ็ดเส้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสายทอง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

 

 

โครงการดังกล่าว ดำเนินโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่อำเภอป่าโมก ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 โดยขุดลอกพื้นที่แก้มลิง จำนวน 3 แห่ง และนำดินที่ขุดมาถมเป็นพื้นที่และทำสาธารณประโยชน์ ปัจจุบันมีการขุดเชื่อมพื้นที่แก้มลิงเข้าด้วยกัน จึงมีแก้มลิง จำนวน 2 บ่อ รวมพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ความจุ 1,467,200 ลูกบาศก์เมตร สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้พื้นที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 2,000 ไร่  จากนั้น องคมนตรีและคณะ เยี่ยมชมบริเวณโดยรอบพื้นที่แก้มลิงและปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และสร้างอาชีพสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

 

 

 ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านบุ่ง ตำบลเจ้าวัด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำท่ากวยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน และพบปะผู้รับประโยชน์จากโครงการ จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมชมบริเวณพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำท่ากวยฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

 

 

โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ บริเวณต้นน้ำของห้วยกระเสียว ห้วยคอกควาย และห้วยคลองหวาย เพื่อจัดหาน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกของราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยกรมชลประทานได้พิจารณา สำรวจออกแบบ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำท่ากวยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จเมื่อปี 2526

 

 

เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่ราษฎรในหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 120 ครัวเรือน ให้มีน้ำใช้อุปโภค บริโภค และพื้นทำการเพาะปลูก จำนวน 1,000 ไร่