เวทีอนาคตเด็กไทย เรียกร้องรัฐแก้ทุกปัญหาความไม่ปลอดภัยบนถนน ไทยติดอันดับต้น ๆ ของเอเชีย

 

เวทีอนาคตเด็กไทย เรียกร้องรัฐแก้ทุกปัญหาความไม่ปลอดภัยบนถนน ไทยติดอันดับต้น ๆ ของเอเชีย

 

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม​ 2567 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จัดเสวนา “อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน" ณ โรงแรม เดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ หาแนวทางแก้ปัญหาการประสบอันตรายทางถนนของเยาวชน

 

ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า เหตุการณ์ต่าง​ ๆ​ ที่เกิดขึ้นกับเด็กมีมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการมาทัศนศึกษา การเดินทางของเด็กมาโรงเรียนในแต่ละวัน ดังนั้นความปลอดภัยของเด็กต้องเกิดจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โรงเรียนเด็กเล็กจำนวนมาก ไม่มีรถนักเรียนที่ปลอดภัยในการรับส่ง สิ่งที่ท้าทายของทุกหน่วยงาน คือ ความปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กๆ ที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันเคลื่อนไหว ซึ่งบางเรื่องทำได้ทันที

 

 

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า รายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,498 คน หรือคิดเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 48 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 0-24 ปี มากถึง 10 คน เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสสส.

 

สาเหตุการเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย 90.7% เมาแล้วขับ 38.3% ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 37.5% ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 33.5% ไม่คุ้นเคยเส้นทาง 17.3% ดังนั้น การคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของเด็ก จึงควรถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาลที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

 

ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ความปลอดภัยบนท้องถนนต้องเป็นบริการสาธารณะ รถรับส่งนักเรียนต้องไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องไม่ปล่อยให้เกิดความสูญเสียแบบที่ผ่านมา ในภาพรวมเกือบ 2 หมื่นชีวิต ทุก 5 คนที่เสียชีวิต 1 คน นั้น เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นสัดส่วนที่สูงมาก และไทยติดอันดับต้น ๆ ของเอเชียที่มีปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนมากที่สุด ซึ่งเป็นสถิติแบบนี้มานับสิบปี ไม่มีรัฐบาลไหนหยิบยกความปลอดภัยทางถนนมาเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องลงมือทำทันที

 

สสส. มีแผนงานส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ซึ่งมีต้นทุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายและนักวิชาการ ที่ผ่านมา ได้พัฒนาให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบเพื่อความปลอดภัยทางถนน มากกว่า 100 แห่ง และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศเข้ามาศึกษาโมเดลและองค์ความรู้นำไปปรับใช้กับพื้นที่

 

ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนานโยบายด้านการดูแลความปลอดภัยของเด็กบนท้องถนนระยะยาว สสส. มีข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เร่งส่งเสริมประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

1.ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน ทั้งการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนและรถทัศนศึกษา และนำเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบให้เกิดความปลอดภัย

2.ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในเด็กและเยาวชน

3.ส่งเสริมให้สถานศึกษาปลูกฝังการเรียนรู้เรื่องวินัยจราจรและความปลอดภัยทางถนน”   

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเริ่มจากรถรับ-ส่งสาธารณะ และขยับมาทำเรื่องรถรับส่งนักเรียน​ การทำงานกับมาตรฐานของการขับขี่มอเตอร์ไซด์ โดยมีการทดสอบหมวกกันน็อกให้มีคุณภาพ เพราะพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาจากรถมอเตอร์ไซต์

 

สารี​ กล่าวต่อว่า หากจะทำงานความปลอดภัยทางถนน ต้องทำงานด้านขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ โดยราคาค่าโดยสารต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าครองชีพ จึงเรียกร้องให้ลดราคาค่ารถไฟฟ้า​ อีกทั้งต้องผลักดันให้ อบจ.แต่ละจังหวัด​ จัดการด้านขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพ และเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงนี้​ ภาพรวมรัฐต้องมีการจัดงบประมาณให้เหมาะสมกับการจัดการขนส่งมวลชนให้กับประชาชน

 

รศ.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะสามารถแก้และบรรเทาได้ หากรัฐบาลดำเนินการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แบ่งมาให้ท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น การแก้ไขปัญหาจึงค่อนข้างยาก อยากให้เด็กปลอดภัยอย่างแท้จริงต้องกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ท้องถิ่นไม่ใช่รากหญ้า แต่เป็นฐานรากของประเทศชาติ

 

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น รัฐมนตรีสั่งการให้ช่วยเหลือเยียวยาไปจนถึงครอบครัว ไม่ใช่เพียงผู้ที่เสียชีวิต นอกจากนี้ สพฐ.มีศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย เพื่อร่วมป้องกันและแก้ปัญหาภัยต่าง ๆ ในโรงเรียนจะมีแผนเผชิญภัยต่าง ๆ

 

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ในฐานะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีรถบัสทัศนศึกษาที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้หาสาเหตุและหาข้อแก้ไขตกลงร่วมกัน ประเด็นที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมาย การพิจารณาหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ เพื่อใช้ในการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน