นักวิจัย สกว.ถอดบทเรียน!น้ำท่วมกรุงเทพฯ


สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังฝนถล่มเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายระลอกและดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายเหตุการณ์พิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังเช่นเหตุการณ์ฝนกระหน่ำอย่างต่อเนื่องหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯเมื่อเช้ามืดของวันที่ 14 ต.ค.2560 ทำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองบาดาล เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง บางแห่งน้ำท่วมนาน 7-8 ชั่วโมง เช่น ถนนวิภาวดี ซึ่งเป็นถนนสายหลัก สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก

ขณะที่กรุงเทพมหานครออกมาชี้แจงสาเหตุเกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักในบางพื้นที่สูงกว่า 200 มม. และภาพของขยะจำนวนมากที่ผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำว่าคือสาเหตุหลักของน้ำท่วมขังในครั้งนี้นั้น

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯดังกล่าว เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนญี่ปุ่นที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่า ชาวกรุงเทพฯส่วนใหญ่รู้ดีว่าขยะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ดูเหมือนไม่มีใครตระหนัก และไม่มีมาตรการรับมือที่มีประสิทธิภาพนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯในปีนี้เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นก็ถูกโยนว่าสาเหตุเกิดจากขยะ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง ที่ถูกโยนว่าสาเหตุเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักยาวนานและขยะอีกครั้ง

แสดงให้เห็นว่าหลังจากน้ำท่วมครั้งแรก กทม.ไม่ได้มีการทำความสะอาดหรือขุดลอกท่อระบายน้ำแต่อย่างใดหรือ จากที่ได้ดูข้อมูลระดับน้ำในคลองต่างๆในช่วงเวลาก่อนฝนตก พบว่ายังสามารถรองรับน้ำได้ เพราะระดับน้ำในคลองต่ำกว่าตลิ่ง 1-2 เมตร จึงไม่เป็นปัญหาแม้ว่าปริมาณฝนจะตกหนัก แต่ปัญหาคือน้ำจากถนนไหลลงคลองไม่ทันสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯในครั้งนี้แตกต่างจากปี 2554 เพราะครั้งนี้ปัญหามาจากท่อระบายน้ำ

แม้ กทม.จะระบุว่า ปริมาณฝนที่ตกจะสูงกว่า 200 มม. แต่จากข้อมูลปริมาณฝนสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ ของวันที่ 13 ต.ค. 2560 ตั้งแต่เวลา 23.00 น.- 14 ต.ค.2560 เวลา 05.00 น. พบว่า ในพื้นที่เขตพระนคร มีปริมาณฝนไม่ถึง 100 มม. ปริมาณฝนสะสมมากสุดอยู่ที่ปากคลองตลาด และสะพานคลองมอญ มีปริมาณฝน 112.5 มม. พื้นที่ฝั่งธนบุรีตกประมาณ 200 มม.

แต่เหตุใดพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังหนักสุดกลับอยู่กรุงเทพฯชั้นในฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะบนถนนสายหลักอย่างถนนวิภาวดี แม้จะมีเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำรัชดาวิภาวดีและสถานีสูบน้ำที่ 5 คลองบางซื่อ ซึ่งควรจะใช้เวลา 3 ชม.ในการระบายน้ำที่ถือว่ารับได้ แต่กลับใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้จึงมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน

“กทม.จึงควรต้องกลับมาทบทวนการบริหารจัดการน้ำของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการขุดลอกท่อระบายน้ำ เพราะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯในครั้งนี้” 

รศ.ดร.สุจริตกล่าวต่อว่า อาจเพราะไม่มีการขุดลอกท่อระบายน้ำก่อนฝนตกเพียงพอหรือมีอุปสรรคทำให้การไหลของน้ำจากถนนไปยังคูคลองไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เราจะสังเกตเห็นว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ ระยะหลังคนกรุงเทพฯไม่ค่อยเห็นการขุดลอกท่อเหมือนในอดีตที่มักเห็นกรมราชทัณฑ์จะมีการนำนักโทษชั้นดีออกมาช่วยขุดลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม

แต่ปัจจุบันภาพนักโทษเหล่านั้นได้หายไป หลังจากที่ กทม.เปลี่ยนใช้ระบบจัดจ้างเอกชนมาดำเนินการลอกท่อระบายแทน แต่กลับไม่ค่อยมีใครได้เคยเห็นการลอกท่อระบายน้ำเลย ควรประเมินประสิทธิภาพดู

รศ.ดร.สุจริตยังได้แนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯว่า  สิ่งที่ควรทำจากนี้คือ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ควรมีระบบช่วยเหลือบรรเทาน้ำท่วม หรือจัดตั้งกลุ่มฉุกเฉินเฉพาะกิจแก้ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่สำคัญที่เป็นถนนสายหลัก ส่วนระยะยาว จะต้องพิจารณาให้มีระบบสัญจรของน้ำจากถนนไปสู่คลอง เพื่อดึงน้ำบนถนนเข้าไปพักหรือเก็บกักน้ำไว้ก่อนสูบหรือดันน้ำลงคลอง ในพื้นที่กทม ฝั่งตะวันออกที่สำคัญ เช่น การทำบ่อแนวดิ่งขนาดใหญ่ใต้วงเวียน หรือสี่แยก และใต้สวนสาธารณะ

พร้อมเสริมสมรรถนะในการระบายน้ำด้วยการฝั่งท่อขนาดมากกว่า 1 เมตร เพิ่มระหว่างท่อเดิมกลางถนนตรงไปยังคลอง เพื่อใช้เป็นท่อทางด่วนในการลำเรียงน้ำให้ไปถึงเครื่องสูบน้ำที่อยู่ปลายทาง และเพิ่มเครื่องดันน้ำช่วยอีกแรง ในพื้นที่คลองที่หน้าตัดคอดลง

“ซึ่งแนวทางนี้แม้จะไม่ได้เป็นการป้องกันน้ำท่วม แต่เพื่อให้มีน้ำท่วมบนถนนน้อยที่สุด และใช้เวลาท่วมบนถนนให้ลดลง จะเป็นการช่วยลดความเสียหายลงได้จาก 7 ชม. เหลือ 3 ชม.เป็นต้น เป็นวิธีการที่หลายประเทศทำอยู่ เช่น ฝรั่งเศส ถือแนวคิดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ควรนำมาปรับใช้ในอนาคต ในกรณีที่คลองยังสามารถรับน้ำได้ และจะต้องมีการทำความสะอาด ลดน้ำในคลองได้ทัน และขุดลอกท่อระบายอย่างน้อยทุกๆ 3 ปี” นักวิจัย สกว.กล่าว

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คุณดวงใจ (นก) โทร.081-421-8133