สกสค.ขอศาลเลื่อนไต่สวนมูลฟ้อง “หมิ่นประมาท โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” รอให้อัยการแก้ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่
ผู้สื่อข่าวโฟกัสนิวส์ เผยแพร่ ศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระหว่าง บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977) จำกัด โจทย์ และ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล จำเลยที่ 2 นายภกร รงค์นพรัตน์ จำเลยที่3 นายธิติทัศน์ ธนัชนนท์เดชน์ จำเลยที่ 4 และนายอภิชัย รุ่งเรืองกุล จำเลยที่ 5 แต่จำเลยที่ 1-4 ไม่มามอบหมายให้คนอื่นมาแทน มาแต่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเอกชน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้มีหนังสือที่ ศธ.5205 1/129 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ขอความอนุเคราะห์พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้กับ จำเลยที่ 2-4 ในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคคีอาญา 1 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับเรื่องไว้พิจารณาเพื่อรับแก้ต่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของพนักงานอัยการ โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส.0008 1/397 ลงวันที่ 27 กันยายน 2567 ให้สำนักงาน คณะกรรมการ สกสค. ชี้แจงข้อเท็จเพิ่มเติม
วันนี้จำเลยที่ 2 – 4 จึงยังไม่มีทนายความ แต่จำเลยที่ 2 – 4 ประสงค์ที่จะให้พนักงานอัยการทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดีในขั้นไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา8(2) อีกทั้งจำเลยที่ 2 – 4 ประสงค์จะยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญที่ศาลควรสั่งว่า
"คดีไม่มีมูลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/2 โดยพนักงานอัยการผู้รับเป็นผู้จัดทำคำแถลงดังกล่าวเพื่อยื่นต่อศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อจัดทำคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งยังไม่แล้วด้วยเหตุความจำเป็นดังกล่าว จึงขออนุญาตศาลได้โปรดเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันนี้ออกไปสักนัดหนึ่ง เพื่อให้พนักงานอัยการได้เข้ามาดำเนินการเป็นทนายความให้จำเลยที่ 2 – 4 หรือมิฉะนั้น ก็ขอให้พยานโจทก์ที่มาศาลในวันนี้เบิกความไปก่อน"
แล้วจำเลยที่ 2 – 4 ขอใช้สิทธิถามค้านในนัดหน้าต่อไป เพื่อให้จำเลยที่ 2 – 4 ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งศาลได้อนุญาตและนัดให้มีการไต่สวนมูลฟ้องเลื่อนออกไปเป็นในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 เนื่องจากจำเลยอ้างรอแต่งตั้งอัยการมาแก้ต่าง
ทั้งนี้ นายพีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการสำนักงาน สกสค.ได้แนบ สำเนาพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 สำเนาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน สำเนาหนังสือที่ นร 1200/71 ลงวันที่ 4 มกราคม 2553 เรื่อง การปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร
โดยสรุปได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และมีคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำหน้าที่บริหารงานสำนักงานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 62 มีอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบคณะกรรมการ ตามมาตรา 63 และมาตรา 64 ประกอบคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน 2558 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ตามมาตรา 75
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ได้พิจารณาเรื่องหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐ แล้วมีมติเห็นชอบตามมติ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2550 วันที่ 26 มกราคม 2550 และครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง หลักเกณฑ์การจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ
ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารแล้ว ลงมติเห็นชอบกับหลักการตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ โดยสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ถูกจัดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ(หน่วยงานในกำกับ)
ดังนั้น ตามที่บริษัท รุ่งศิลป์ฯฟ้องร้องมาเบื้องต้น สำนักงานงานคณะกรรมการ สกสค.ขอเรียนเพิ่มเติมว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการ สกสค. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล ในฐานะผู้อำนวยการค้าของ สกสค.นายภกร รงค์นพรัตน์ ในฐานะรองผู้อำนวยการองค์การค้าฯของสกสค. และ นายธิติทัศน์ ธนัชนท์เดชน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุองค์การค้าฯ พิจารณาข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ไม่เป็นความจริง แต่อย่างใด
โดยกรณีการให้ข่าวผ่านทางช่องทางสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ขององค์การค้า สกสค. และทางการเสนอข่าวอีกหลายช่องทางนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ สำนักงานสกสค. ให้การดำเนินงานการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ให้แล้วเสร็จ ทันก่อนเปิดภาคเรียนและเพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียนตลอดถึงครู นักเรียน และผู้ปกครอง
ด้านนายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการผู้รับมอบอำนาจ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด กล่าวว่า มีปัญหาตั้งแต่ TOR ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณสมบัติกระดาษที่ไม่มีอยู่จริง และเขาก็ยอมรับเองว่า ขณะที่ทางโรงพิมพ์กำลังจัดพิมพ์หนังสือ ก็ส่งปกให้ไม่ครบตามใบสถานะที่ระบุ กว่าจะส่งครบก็วันที่ 27 เมษายน 2567 เหลือเวลาเพียง 10 กว่าวัน ก็จะครบกำหนดสัญญา
โดยตอนที่จะพิมพ์ปกทางโรงพิมพ์ รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ก็แจ้งองค์การค้าฯตลอดว่า ปกไม่ครบ ให้มานับ ซึ่งแทนที่เขาจะรีบทำปกส่งมา กลับตอบมาว่า ต้องการปกไหนให้แจ้งไป เพราะฉะนั้นการที่มาอ้างว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.
ในการดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ให้แล้วเสร็จทันก่อนเปิดเทอมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะสิ่งที่พูดมานั้นดูเหมือนจะต้องการให้สังคมเห็นว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ไม่มีความสามารถ ไม่มีความพร้อม ไม่สมควรพิมพ์หนังสือให้ สกสค.
ซึ่งในทางปฏิบัติ หากองค์การค้า สกสค.รู้ว่าโรงพิมพ์มีปัญหา ควรต้องมาช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้การจัดพิมพ์มีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งควรต้องมาร่วมมือกันถึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับมาให้ข่าวใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จจึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นข้อแก้ต่างนี้จึงฟังไม่ขึ้น
“ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ที่มีการให้ร้ายโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ โดยอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงาน เพื่อขอตั้งอัยการแก้ต่าง แต่ตอนที่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับบอกว่าตัวเองเป็นเอกชน หรือแม้แต่ตอนแถลงข่าว ก็บอกว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ใช้งบฯของรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่พอมาที่ศาลกลับบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานอีก วันนี้ศาลจึงบอกให้กลับไปดูข้อกฎหมายให้ดีก่อน ซึ่งเราก็ต้องกลับไปทำการบ้านเพิ่มในประเด็นนี้
อย่างไรก็ตามตอนนี้ เขาพยายามต่อสู้ว่าเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ แต่เรามองว่าการให้ข่าวที่มีการแสดงความเห็นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
ความคืบหน้า จะรายงานให้ทราบต่อไป