“ว.แพทย์ ม.อุบลฯ” ปฏิรูปหลักสูตร Transformative Learning

วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จับมือทุกภาคส่วนเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตร สร้างและพัฒนาบุคลากรในระบบสุขภาพ จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นและแนวทางการออกแบบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เรื่อง“การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้แบบ Transformative Learning สำหรับบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21” ณ สถานปฏิบัติการการโรงแรมและการท่องเที่ยว ยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและความร่วมมือที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการผลิตบุคลากรสุขภาพที่มีคุณภาพ สร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 

โดยมี รองศาสตราจารย์นงนิตย์  ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์  พาณิช ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 และผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ เป็นวิทยากรบรรยาย

ทั้งนี้ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่จะปฏิรูปสถาบันเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และได้มีการจัดสัมมนาครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข สถานการณ์ด้านสุขภาพและประเด็นสุขภาพในระดับประเทศและพื้นที่ ตลอดจนเพื่อแสวงหาเครือข่ายวิชาชีพ

เพื่อมาร่วมกันทบทวนแนวคิดในการผลิตบัณฑิต การกำหนดผลลัพธ์ทางการศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านบริการสุขภาพของประชาชนในยุคปัจจุบันผลการสัมมนาครั้งที่แล้ว นำมาสู่การสัมมนาระยะที่ 2 คือครั้งนี้ ซึ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Transformative Learning

ซึ่งจะสามารถอำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนในทุกมิติ (Holistic Change) ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้และทักษะ ด้านโลกทัศน์ มโนทัศน์ และพฤติกรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ และสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้างไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้

การที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ไปสู่ Transformative Learning โดยใช้โรงพยาบาล (รพ.) ชุมชนและแหล่งฝึกเป็นฐาน นอกจากจะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริงแล้ว ยังช่วยนักศึกษามีความเข้าใจปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของพื้นที่ ก่อให้เกิดความผูกพันกับชุมชน และบ่มเพาะจิตใจแห่งความเอื้ออาทรในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน

นอกจากนี้ ยังเป็นฐานสำคัญในการสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง คือ ระบบคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ซึ่งในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขได้วางเป้าหมายการสร้างคลินิกครอบครัวเพื่อเป็นกลไกช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ครบทุกองค์ประกอบด้านสุขภาพให้ครบ 6,500 ทีม ในอีก 10 ปีข้างหน้า

“จึงถือว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ผลิตบุคลากรสุขภาพ ที่จะต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสาธารรณสุขของประเทศด้วย” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว