“ราชภัฏภูเก็ต” ระดมเทคโนโลยี!พลิกโฉม “ป่าตอง” สู่เมืองไฮเทค


มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับเทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ โดยมี ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต และ น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ลงนาม

ร่วมด้วย ดร.พิทา จารุพูนผล ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ นางสาวขนิษฐา ธนาวิรัตนานิจ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) ม.ราชภัฏภูเก็ต ตลอดจนผู้บริหารส่วนราชการ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานเทศบาลเมืองป่าตอง เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประภา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เล็งเห็นถึงความสำคัญของจังหวัดภูเก็ตที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรม ที่รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเป็นหน้าด่านสำคัญในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการสร้างความรับรู้แก่ประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก

โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการให้จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบาย Thailand 4.0 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้นวัตกรรมและมีการปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลระดับสูง

“นอกจากนี้ ภูเก็ตยังมีชื่อเสียงด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนระดับโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 13 ล้านคน จึงถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ตกล่าว

ด้าน นางสาวขนิษฐา ผู้จัดการ UBI ม.ราชภัฏภูเก็ต กล่าวเสริมว่า การสร้างความร่วมมือในการบริการวิชาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย ซึ่งเทศบาลเมืองป่าตองมีโนบายการพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ Patong Smart City

ทั้งนี้ ม.ราชภัฏภูเก็ตมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการนวัตกรรม ด้วยแนวทางความร่วมมือคือ จะมุ่งเน้นสร้างระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เมืองป่าตอง และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ให้เข้าถึงระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะแบบมีส่วนร่วม ผ่านระบบ Mobile Application

ขณะที่ ดร.พิทา ผอ.สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.ราชภัฏภูเก็ต กล่าวอธิบายว่า ผลต่อเนื่องจากการลงนาม MOU ภายใน 5 ปี จะมีการร่วมกันพัฒนา Platform เพื่องานบริการสาธารณะแก่ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลจากเทศบาลป่าตอง และหน่วยงานของรัฐ

ร่วมด้วยการดำเนินการให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ผ่านกิจกรรมฝึกอบรมและสอนการใช้งานมือถือสมาร์ทโฟนที่เหมาะกับกลุ่มต่างๆ ได้แก่ บุคลากรภาครัฐ และภาคเอกชนสายงานท่องเที่ยวและบริการ

รวมถึงการให้นักศึกษาของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน ICT แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่แผงลอย ผู้ให้บริการขนส่ง กลุ่มผู้สูงอายุ และนักเรียนในพื้นที่

“จากแนวทางทั้งหมดนี้ มหาวิทยาลัยหวังว่าจะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ภาคธุรกิจ และนักท่องเที่ยวในป่าตองในรูปแบบทันสมัย และจะมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกกับเทศบาลเมืองป่าตองในอนาคตอันใกล้”