ทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยในระยะ 5 ปีนี้

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างวิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2559–2563) ดังต่อไปนี้

“สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นแกนหลักในการนำความคิดเห็นของที่ประชุมในครั้งนั้นไปจัดทำวิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.25592563 โดยที่ประชุมมีมติให้มีการบูรณาการ 8 ประเด็น ได้แก่ 1) นโยบายการศึกษา 2) ระบบบริหารการศึกษา 3) โครงสร้างและระบบการศึกษา 4) การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา 5) ครูและบุคลากรทางการศึกษา 6) การกำกับและการประเมินผล 7) งบประมาณและการช่วยเหลือด้านการเงิน และ 8) อื่นๆ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 แก้ไขปัญหา ขจัดอุปสรรค ระยะที่ 2 วางรากฐาน และระยะที่ 3 ขับเคลื่อนต่อเนื่องสู่เป้าหมาย”                

“กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดทำร่างวิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.25592563) มีเป้าหมายคือ ภายในปี พ.ศ.2563 คนไทยจะมีการศึกษาเฉลี่ยสูงขึ้น สามารถอ่านออก เขียนได้ และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีค่านิยมหลักของคนไทย รักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษา ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบที่สนองตอบการพัฒนาประเทศ มีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันในเวทีโลก โดยผลการจัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยดีขึ้นอย่างน้อย 5 อันดับ”

“โดยกำหนดกรอบและทิศทางใน 3 ช่วง ช่วงที่ 1 ได้ดำเนินการแล้ว ช่วงที่ 2 อยู่ในระหว่างดำเนินการ ช่วงที่ 3 เป็นช่วงวางรากฐานสู่อนาคตโดยยึดโยงกับวิสัยทัศน์ และกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ.2563 การศึกษาไทยควรจะเร่งพัฒนาหรือขับเคลื่อนในประเด็นใด เช่น เร่งยกระดับคุณภาพ/การเรียนการสอน โดยกำหนดว่า เด็กจบประถมศึกษาทุกคนต้องอ่านออก-เขียนได้ เด็กทุกคนต้องจบการศึกษาภาคบังคับ ลดอัตราการออกกลางคัน มีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งสร้างโอกาสการมีงานทำ เรียนจบแล้วมีงานทำ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน มุ่งสู่คุณภาพระดับสากล สร้างครูยุคใหม่ ส่งเสริมให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม มีค่านิยมหลัก สร้างระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาระบบและกลไกการกำกับติดตามและประเมินผล มีระบบการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ยึดโยงกับ 8 ประเด็นดังกล่าว”

“ทิศทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย เช่น ปรับบทบาทและกลไกลด้านนโยบายและแผนของชาติ ปรับแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษา จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ปฏิรูปด้านต่างๆ โดยเฉพาะปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปการศึกษาเพื่ออาชีพ ปฏิรูปอุดมศึกษา การวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา พัฒนาระบบกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมบทบาทและความเข้มแข็งของครอบครัวในการพัฒนาการเรียนรู้ของบุตรหลานในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา ส่งเสริมสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาร่วมกันพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ การกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น”

“จะต้องมีการวางแนวทางในการพัฒนาการศึกษาเพื่อให้คนไทยได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย เชื่อมโยงกับ Road Map ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนำไปสู่การวางรากฐานในการปฏิรูปประเทศ ใน Road Map ส่วนหนึ่งจะมีเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นที่เด็กเป็นสำคัญ”

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ เรื่องการใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงในเรื่องการศึกษา และมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม สัมฤทธิผลยังไม่แปรผันไปตามงบประมาณที่ได้ใช้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้กลไกด้านงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น World Economic Forum ที่มีการพูดถึงอันดับของประเทศไทยที่เปรียบเทียบกับอาเซียน ได้จัดดับไว้ใน 48 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน ซึ่งมี 9 ประเทศ ยกเว้นประเทศบรูไน ในหลายเรื่องประเทศไทยยังอยู่ในอันดับไม่สูงมากนัก เช่น ในเรื่องคุณภาพระบบการศึกษา คุณภาพการบริหารสถานศึกษา คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น"

“ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาศักยภาพ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า อันดับในการแข่งขันจะต้องดีขึ้น อีกทั้งผลการทดสอบ PISA ยังไม่น่าพึงพอใจมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะนำเสนอต่อที่ประชุมซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา เพื่อระดมความคิดและรับฟังความคิดเห็นในการนำไปสู่การวางรากฐานของการปฏิรูปการศึกษาต่อไป”