ส่อง “พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ ชายจีวร ตอกโค้ดระฆัง” ปรากฎคราบรักเก่า

 

ส่อง “พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ ชายจีวร ตอกโค้ดระฆัง” ปรากฎคราบรักเก่า 

 

 

คอลัมน์ “พระบ้านพ่อ” เปิดศักราชใหม่กันด้วยเรื่องราวของพระเครื่องที่คุณพ่อของผู้เขียน (น.ส.อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์) ที่ได้เก็บสะสมพระเครื่อง พระบูชา และพระกรุต่างๆ จากประสบการณ์การศึกษาเรื่องพระเครื่องมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะ “พระสมเด็จ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิ์พระเครื่อง โดยคุณพ่อได้เก็บสะสม รวบรวมพิมพ์พระสมเด็จต่างๆ ไว้มากมาย และยินดีที่จะเปิดเผย แบ่งปันให้ผู้อ่านได้รับทราบ และพิจารณาร่วมกันถึงลักษณะของพระพิมพ์ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การเก็บสะสม รวมไปจนถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในฐานะพุทธศาสนิกชนที่มีความเคารพ และศรัทธาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้า และพระเกจิอาจารย์ ผู้เป็นที่เลื่อมใสของชาวพุทธ 

 

“พระสมเด็จ” ที่คุณพ่อเก็บรักษานั้นเน้นสะสมในแนวทางของ การอนุรักษ์พุทธศิลป์ และเก็บตามตำราดั้งเดิม โดยมีต้นแบบของ อาจารย์ตรียัมปวาย ในหนังสือ “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ” อาจารย์แฉล้ม โชติช่วง และมนัส ยอขันธ์ ในหนังสือ “สมเด็จโต” รวมไปจนถึงองค์ความรู้เรื่องพระสมเด็จที่รวบรวมจากประสบการณ์ของ ผศ.ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล ในบล็อก พระเครื่องเรื่องใหญ่ และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในการศึกษาพระสมเด็จตามตำรา

ขอเริ่มต้นเปิดคอลัมน์ เพื่อเป็นสิริมงคลกันที่จักรพรรดิ์พระเครื่องอย่าง “พระสมเด็จ” ปลุกเสกโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) พระมหาเถระรูปสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในประเทศไทย ด้วยการจัดสร้างมวรสารอันศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรมในการปลุกเสกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ทำให้ “พระสมเด็จ” ได้รับความนิยมอย่างมาก และเป็นความใฝ่ฝันของเหล่าบรรดานักสะสมพระเครื่อง


สมเด็จวัดระฆัง ตอกโค้ดระฆัง


องค์นี้ เรียกว่า “สมเด็จพิมพ์ใหญ่ ชายจีวร” สังเกตเส้นที่เชื่อมระหว่างข้อศอก และเข่า ด้านซ้ายขององค์พระ จะมีลักษณะคล้ายจีวรอยู่ ลักษณะองค์พระประธานมีความล่ำสัน พระพักตร์คล้ายผลมะตูม

ลักษณะพิเศษ คือ เหนือข้อศอกด้านขวา (องค์พระ) ใกล้ซุ้มเรือนแก้วมีการตอกโค้ด เป็นรูประฆัง เป็นการกดลึกลงไปในเนื้อพระ ผ่านการลงรัก และ น้ำมันตังอิ๊ว หรือ อาจจะเป็น น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อยเคี่ยว เพื่อเคลือบผิวพระไว้ทั้งองค์ จึงปรากฎคราบสีน้ำตาลเข้มและอ่อนสลับกันไปทั้งองค์พระ 

จากการหาข้อมูลของการตอกโค้ดพิเศษที่เป็นรูประฆังนั้น เป็นไปได้ว่า สร้างเพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดบางว้าใหญ่” เป็น  “วัดระฆังโฆสิตาราม” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ที่วัดบางว้าใหญ่ และทรงนำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”

ส่วนข้อมูลอีกชุดหนึ่ง กล่าวว่า โค้ดระฆัง เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลของตระกูลหนึ่ง ซึ่งในช่วงยุคกลาง จนถึงยุคปลายของการสร้างพระสมเด็จ มีช่างหลวง  ขุนนาง ข้าราชการ และประชาชนมากมาย มาช่วยแกะพิมพ์ เพื่อช่วยสมเด็จโตสืบทอดพระพุทธศาสนา รวมถึงเจ้านายตระกูลใหญ่ และชาวจีน ต่างได้ทำสัญลักษณ์พิเศษต่างๆ ไว้ที่องค์พระสมเด็จ และได้ให้เจ้าประคุณสมเด็จโตทำพิธีปลุกเสก หลังจากนั้นก็นำไปแจกจ่าย ที่เหลือจึงเห็บรักษาไว้ในหีบ โถต่างๆ 

คราบน้ำมันตังอิ๊ว (น้ำมันผสานเนื้อพระ) กันการปริแตก ที่ปรากฎ รวมถึงคราบน้ำอ้อยเคี่ยว ที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ เมื่อผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี ปรากฎการหลุดลอก เผยให้เห็นผิวองค์พระสมเด็จ ที่มีความหนึกนุ่ม แกร่ง มีร่องรอยยุบ ย่น และมีการแตกลายธรรมชาติทั้งด้านหน้า ด้านหลังองค์พระ ในข้อมูลที่ค้นหาคาดการณ์ว่า พระสมเด็จชุดนี้จัดสร้างราวๆ ปี 2408 - 2409 เป็นยุคต้นๆ ของการเริ่มทดลองใช้น้ำมันตังอิ๊ว แทนการใช้น้ำอ้อยเคี่ยว ยางไม้ หรือ น้ำผึ้ง ที่มีความเหนียว เพื่อเคลือบองค์พระไม่ให้แตกหัก

ลักษณะเด่นประจำองค์

พระสมเด็จองค์นี้ ปรากฎให้เห็นเนื้อ 3 ลักษณะ คือ เนื้อสีขาว เนื้อสีเหลืองน้ำตาลอ่อนๆ และเนื้อสีน้ำตาลเข้ม ที่เป็นคราบจากน้ำรัก น้ำมันตังอิ๊ว ต่างๆ 

ส่วนของพระพักตร์องค์พระประธาน เมื่อส่องด้วยกล้องกำลังขยายสูง ลงไปที่เนื้อองค์พระ เห็นรอยแตกลึกส่วนกลางพระพักตร์ และกลางพระอุระ (อก) มีเม็ดมวลสารก้อนสีขาว สีเหลือง ฝังอยู่ในส่วนต่างๆ และเม็ดสีดำเล็กๆ ที่คาดว่า เป็นเหล็กไหลไพรดำ เพราะแม่เหล็กแรงสูงสามารถดูดติด เนื้อพระมีความฉ่ำ วาว นุ่มนวล ของเนื้อปูนเปลือกหอย ที่เป็นส่วนผสมในมวลสาร เมื่อผ่านกาลเวลา 100 กว่าปี จะเกิดเป็นแคลไซซ์ (Calcite) ที่ทำให้พระสมเด็จมี  “ความมันวาว นุ่มนาล และสวยงาม” 

ผงและมวลสารวิเศษ ผนึกกำลังพุทธคุณ เป็นสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง

ผงและมวลสารวิเศษ” ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้นำมาบดและกดพิมพ์พระ มีมากมาย ตั้งแต่กระยาหารที่สมเด็จท่านฉัน เกสรดอกไม้ ผงวิเศษ ไปจนถึงดินมงคลจากที่ต่างๆ หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย ผงพุทธคุณที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5 
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารย์ที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุกสุก 
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ

มวลสารต่างๆ มากมายอันทรงคุณค่า ได้นำมาตำและบดรวมกัน ผ่านการสวดมนต์ภาวนา ปลุกเสกพระของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทุกวัน รวมถึงการนำพระสมเด็จเข้าพิธีสำคัญๆ ทำให้พระสมเด็จทรงคุณค่าด้วยพลังพุทธคุณ

และเมื่อผนึกกำลังด้วยพระคาถา "ชินบัญชร" ของสมเด็จฯ ที่อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นพลังคุ้มครองครอบจักรวาล เป็นมงคลกับผู้สวดมนต์และตั้งตนอยู่ในศีลธรรม

พระสมเด็จชุดนี้ เกิดจากความตั้งใจเก็บสะสมของคุณพ่อผู้เขียน ที่มีความศรัทธาต่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต มาเป็นเวลานาน และศึกษา สะสม พระเครื่องอย่างจริงจังมากว่า 30 ปี ซึ่งคุณพ่อได้แบ่งปันมาจากคุณยายที่เคารพท่านหนึ่ง และเก็บสะสมเพื่อให้ข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อไป 


 


“พระสมเด็จแต่ละองค์มีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน”
ทั้งจุดตำแหน่งของมวลสารที่ปรากฎ การหลุดลอกของรักต่างๆ ที่เคลือบองค์พระ ลักษณะการแตกลายธรรมชาติที่ปรากฎ ทำให้พระสมเด็จแต่ละองค์มีลักษณะเฉพาะพิเศษที่ไม่เหมือนกัน แม้จะมาจากบล็อกเเดียวกัน เนื้อหามวลสารเดียวกันก็ตาม 

ท่านใดที่มีพระสมเด็จไว้บูชา ถ้าหากพิจารณาด้วยความเก่าของพระแล้ว มีความยุบ แยก ย่น แห้ง ตามกาลเวลา 100 กว่าปี และมีเหมือนในตำรา ขอให้ท่านเชื่อและศรัทธา ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดี หมั่นสวดมนต์ภาวนา แล้วพรอันเป็นมงคลจะบังเกิดแก่ตัวท่าน และช่วยกันสืบทอดมรดกอันเป็นมงคลนี้ไปยังรุ่นลูกหลานต่อๆ ไป

 

ภาพพระสมเด็จ ตอกโค้ดระฆัง จากกล้องกำลังขยายสูง

 

 

 

 

อ้างอิง : 1. https://bit.ly/3nZn5CB
2. https://bit.ly/3hqFTIC

 

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมนิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com 

 

 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)