ชม “พระสมเด็จ สายวัง หลัง ร.๔” งดงาม วิจิตร แบบฉบับช่างหลวง

 


ชม
พระสมเด็จ สายวัง หลัง ร.๔งดงาม วิจิตร แบบฉบับช่างหลวง

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมนิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 
E-Mail : arphawan.s@gmail.com

พระสมเด็จแท้จริงแล้วมีมากมายหลากหลายพิมพ์ทรง แล้วแต่ว่าอาจารย์ท่านไหน สำนักไหนจะให้นิยาม และแบ่งแยกพิมพ์ หรือ แยกพิมพ์ตามการบรรจุกรุวัดต่างๆ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้สร้างเพื่อบรรจุไว้ในกรุวัดต่างๆ เพื่อการสืบทอดพระพุทธศาสนา อันได้แก่ กรุวัดพระแก้ว กรุวัดระฆัง กรุวังหน้า กรุพระธาตุพนม (จำลอง) กรุวัดบางขุนพรหม กรุวัดเกศไชโย ฯลฯ 




พิมพ์พระสมเด็จตามตำรา

ในการแบ่งพิมพ์พระสมเด็จของ อาจารย์ตรียัมปวาย ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯแบ่งพิมพ์พระสมเด็จได้ ดังนี้

1.พิมพ์ทรงพระประธาน
2.พิมพ์ทรงเจดีย์
3.พิมพ์ทรงฐานแซม
4.พิมพ์ทรงเกตุบัวตูม
5.พิมพ์ทรงปรกโพธิ์
6.พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ
7.พิมพ์ทรงสังฆาฏิ
8.พิมพ์ทรงเส้นด้าย
9.พิมพ์ทรงฐานคู่

และยังมีพิมพ์เพิ่มเติมจากการค้นของคณาจารย์ท่านอื่นๆ อีก เช่น พิมพ์ทรงพระสมเด็จพิมพ์เศียรบาตร, พิมพ์ทรงพระสมเด็จพิมพ์ไสยาสน์ ฯลฯ ผู้เขียนคิดว่ายังคงมีพิมพ์แปลกๆ และหลากหลายกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน เนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ท่านได้สร้างพระตั้งแต่สมัยที่ท่านยังหนุ่มๆ ไปจนถึงสิ้นชีวิตของท่าน ดังนั้นวัตถุมงคลที่ท่านสร้างน่าจะมีมากมายเลยทีเดียว



ฟากฝั่ง
 อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี และจากประสบการณ์เรื่องพระสมเด็จของท่าน สามารถแยกพิมพ์พระสมเด็จที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้สร้างและปลุกเสกไว้ โดยมีทั้งช่างหลวง ช่างสิบหมู่ ช่างชาวบ้าน ฯลฯ ต่างช่วยกันแกะบล็อกแม่พิมพ์พระสมเด็จมากมาย สามารถแบ่งออกเป็น 5 พิมพ์ หลักๆ คือ

 

1. พิมพ์วัง สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ในวังและหอพระ
2. พิมพ์วัด สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัดและกรุวัดต่างๆ ซึ่งมีราวๆ 9 วัด คือ วัดเกศไชโย วัดสะตือ วัดโพธิ์ วัดระฆัง วัดบางขุนพรหม วัดสระเกศ วัดลครทำ วัดขุนอินทประมูล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 
3. พิมพ์บ้าน สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อแจกชาวบ้าน 
4. พิมพ์วังหน้า สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ที่ส่วนวังหน้า (พื้นที่วังหน้าเดิมได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)
5. พิมพ์พุทธจารึก  สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวประเพณีในสมัยนั้น เช่น พระสมเด็จหลังพิธีโยนบัว, พระสมเด็จหลังเสาชิงช้า ฯลฯ

 


 

“พระสมเด็จ สายวัง หลัง ร.๔”

พระสมเด็จองค์นี้ คุณพ่อของผู้เขียนได้มาจากตระกูลของลูกหลานสายทหารที่คุณปู่เคยทำงานในพระราชวัง และเก็บสะสมมา

พิมพ์นี้ เรียกว่า พิมพ์พระประธาน ด้านซ้ายและขวาองค์พระ ประดับด้วยคริสตัลเก่าสีฟ้า ด้านหลังองค์พระเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) ครึ่งพระองค์ มีรอยกดลึก เป็นคำว่า ร.๔
 ปิดทองเก่าทั้งองค์ ด้านหน้าและด้านหลัง 

ตามข้อมูลของ อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี พิมพ์นี้ถือได้ว่า เป็นพิมพ์สายวัง ที่สมเด็จฯ โต ท่านได้สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัง - หอพระ รวมถึงการถวายพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และเหล่าขุนนางต่างๆ และน่าจะให้ช่างหลวงเป็นผู้แกะบล็อกแม่พิมพ์ หรือ อีกข้อสันนิษฐาน กล่าวว่า พระสกุลวังเป็นพระที่จัดสร้างโดยเจ้านายฝ่ายในยุคก่อน โดยมีช่างหลวงเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ และผ่านการปลุกเสก เข้าพิธีพุทธาภิเษกสำคัญๆ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต 

พระสมเด็จ สายวัง หลัง ร.๔ องค์นี้ ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะทันเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ปลุกเสกอย่างแน่นอน เนื่องจากท่านเจ้าประคุณฯ มรณภาพช่วงต้น ร.๕ ในปี พ.ศ. 2415 ดังนั้นในสมัย ร.๔ ถือเป็นยุคที่สมเด็จฯ โต ได้ปลุกเสกและทำพีธีพุทธาภิเษก 

ด้วยอายุของพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี ทำให้เกิดการหลุดร่อนของทองเก่าที่ปิดไว้ และมุมบนขวามือด้านหลังมีการหลุดของเนื้อพระด้านนอก เผยให้เห็นเนื้อพระด้านใน ที่เป็นสีฟ้า และเมื่อส่องกล้องกำลังขยายสูงลงไป จะเห็นถึงมวลสารเม็ดเล็กๆ ของพระสมเด็จที่อยู่ด้านใน 

มีร่องรอยความเก่าแก่ขององค์พระ ซึ่งสามารถอธิบายได้ คือ ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง  เป็นไปตามที่ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ได้เคยอธิบายถึงธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี 

พระสมเด็จ สายวัง ได้ถูกเปิดเผย และเป็นที่ยอมรับกันเฉพาะในนักสะสมพระสมเด็จกลุ่มหนึ่ง ที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์โดยเฉพาะ มีการเปิดเผยภาพพระสมเด็จ สายวัง ต่างๆ ที่นักสะสมแต่ละท่านได้ศึกษาและสะสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
 

โดยพระสมเด็จสายวังนี้เอง จะมีการประดับไปด้วยพลอย คริสตัล รวมไปถึงอัญมณีอื่นๆ ที่มีความวิจิตร สวยงาม พุทธศิลป์งดงามน่าศึกษา และเปี่ยมไปด้วยพลังพุทธคุณ

มวลสารหลักของพระสมเด็จ

1. ปูนเปลือกหอย

2. หินอ่อน (จากศิลาจารึกพระคาถาพญาธรรมิกราชอยู่ในสระน้ำวัดระฆังโฆสิตาราม วัดอินทรวิหาร และวัดหงส์รัตนาราม)

3. ดินหลักเมือง

4. รัตนชาติ คือแร่ ๙ ประเภทที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับ แต่ในพระสมเด็จพบทั้งหมด 12 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน ฟ้า เขียว เหลือง น้ำตาล ส้ม แดง ชมพู ดำ ขาว

5. แร่เหล็กไหล ซึ่งเป็นขี้เหล็กไหล หรือผงเหล็กไหล

6. ผงทองนพคุณ (ผงทองเนื้อเก้า และทองเนื้อหก หรือทองดอกบวบที่นิยมทำทองรูปพรรณ) เป็นผงทองจากการตะไบทองที่ทำทองรูปพรรณ

7. ผงแก้วทรายสีต่าง ๆ บดละเอียด

8. ข้าวสุก

9. ผงใบลานเผา

10. กล้วย

11. ยางมะตูม

12. น้ำผึ้ง น้ำตาลอ้อยเคี่ยว

13. น้ำมันตังอิ๊ว

14. ว่านและเกสรดอกไม้ 18 ชนิด

 

ศรัทธาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล 


จริงอยู่ที่สายพุทธพาณิชย์ อาจจะไม่ยอมรับ หรือ ไม่ได้เล่นสะสมกันในพิมพ์สายวัง ซึ่งเรามิอาจก้าวล่วงได้ แต่กลุ่มอนุรักษ์พุทธศิลป์ของพระสมเด็จสายวังเองก็
ปักใจเชื่อด้วยความเคารพและศรัทธาตามที่กลุ่มได้ศึกษา และปรากฏการสะสมพระมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ 

 

เรื่องนี้เราไม่ว่ากัน...ใครใครสะสมแบบไหน เชื่อแบบไหน ก็สุดแล้วแต่ทุกท่านพิจารณา 

 

ที่สุดแล้ว การตั้งมั่นอยู่ในคุณความดี เป็นพุทธศาสนิกชนที่ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนานั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่เราชาวพุทธจะสานต่อพุทธรรมไปจนถึงรุ่นลูกหลานสืบไป 

 
“ภาพพระสมเด็จ สายวัง หลัง ร.๔ จากล้องกำลังขยายสูง”







 

อ้างอิง : 1. https://youtu.be/3iXBeSMNMqo
2. https://bit.ly/3neOejS

 

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)