"พระสมเด็จ" หลังกาบหมาก มวลสารแห้ง ยุบ แยก ตามกาลเวลา


ชม "พระสมเด็จ" วัดระฆัง หลังกาบหมาก
 เก่าเก็บของคุณพ่อ เผยมวลสารพระสมเด็จ วัดระฆัง 

 

ความแห้ง และความยุบด้านหลังพระสมเด็จองค์นี้ไหม ยิ่งหลังที่ไม่เรียบแบบนี้ ทำให้เห็นความแห้ง ความลึกของเนื้อมวลสารที่หดแห้งไปตามกาลเวลาอย่างเป็นธรรมชาติคุณพ่อผู้เขียนชี้ชวนให้ดู พระสมเด็จ หลังกาบหมาก ที่ท่านเก็บสะสม

 

ถามถึงที่มาของพระสมเด็จชุดนี้ คุณพ่อก็ได้มาจากคุณยายท่านเดิม ที่มีสามีเป็นทหารเก่า และเก็บสะสมพระสมเด็จเอาไว้จำนวนมาก เมื่อเห็นความแห้งแบบธรรมชาติของหลังพระสมเด็จ คุณพ่อเลยสนใจที่จะศึกษาความเป็นมา 

 

เทคนิคของคุณพ่อในการส่องพระสมเด็จ คือ ความแห้ง ความยุบ ความหดตัวของเนื้อมวลสารในพระเครื่อง ที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี เฉกเช่นเดียวกับแนวทางการศึกษาพระสมเด็จของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ คือ  ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง ซึ่งเป็นธรรมชาติของพระสมเด็จ ที่ปรากฏในองค์พระ

 

เรื่องราว และที่มาด้านหลังพระสมเด็จ

 

อย่างที่ผู้เขียนเองเคยเขียนถึงด้านหลังพระสมเด็จ ในชุดพระของคุณพ่อก่อนหน้านั้น ว่าการปรากฏด้านหลังพระสมเด็จหลากหลายแบบ ตั้งแต่ หลัง ร.๔ หลังครุฑ หลังกดเจดีย์ ฯลฯ ในบทความก่อนหน้านี้ 

 

พระสมเด็จชุดนี้เองเช่นกัน ปรากฏหลังที่ไม่เรียบ ซึ่งคุณพ่อเรียกว่าหลังกาบหมาก ผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูลก็พบว่า มีพระสมเด็จ หลังกาบหมาก ที่นักสะสมพระเครื่องได้เก็บสะสมอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏเป็นภาพถ่าย 

 

มีข้อมูลบางแห่ง บอกว่า พระสมเด็จยุคตั้นๆ นั้น น่าจะมีการกดพิมพ์โดยใช้นิ้วมือ จึงมีการปรากฏด้านหลังเป็นนิ้วมือให้เห็น ถัดมาจึงมองหาเครื่องทุ่นแรงในการกดพิมพ์พระจึงหันมาใช้ไม้ในการกด มีการสันนิษฐานว่า น่าจะมีไม้กระดาน 4 แผ่น ซึ่งทั้ง 4 แผ่นมีผิวไม่เหมือนกัน จึงปรากฏพิมพ์ด้านหลัง 4 แบบ คือ 

 

1. พิมพ์หลังกาบหมาก ลักษณะด้านหลังพิมพ์ดูเป็นลายไม้กระดาน เมื่อพระหดตัวตามกาลเวลาลายไม้กระดานจะดูละเอียด และลึกขึ้นเหมือนลายกาบหมากที่แห้งและหดตัว รอยปริแตกของเนื้อพระลู่ไปในทางเดียวกัน ส่วนความลึกที่เกิดจากการกดทำให้เห็นการหดตัวของเนื้อมวลสารชัดเจน

 

2. พิมพ์หลังกระดาน ลักษณะเป็นลายไม้กระดานที่เห็นคลองเลื่อยขวางกับองค์พระ บางองค์คลองเลื่อยจะเห็นชัดเจนมาก บางองค์ก็จะไม่ชัด มีรอยขอบกระเทาะอย่างชัดเจน และความแห้งของเนื้อมวลสาร 

 

3. พิมพ์หลังสังขยา มีลักษณะเหมือนหน้าสังขยา คือมีความขรุขระ เป็นรูปรุ ไม่เรียบ แต่ก็ไม่มีลายละเอียด เหมือนพิมพ์หลังกาบหมาก พบรอยกระเทาะของขอบพระ และความแห้งของเนื้อมวลสาร

4. พิมพ์หลังแผ่นเรียบ ลักษณะของด้านหลังพิมพ์นี้จะดูเรียบ ไม่มีรอยกาบหมาก รอยกระดานหรือรอยสังขยา พบความแห้งและรอยกระเทาะของขอบพระชัดเจน

 

อีกหนึ่งข้อสันนิษฐาน บอกว่า คำว่าหลังกระดาน หมายถึง เอาไม้หมากมาผ่า แล้วเซาะให้เกิดร่องรอยตามร่องธรรมชาติ ใช้กดหลังพระสมเด็จ  จึงได้รอยกระดานที่ปรากฏขึ้นมา

 

หรืออาจจะเป็น การเปลี่ยนจากกดพิมพ์พระด้วยนิ้วมือในยุคแรก มาเป็นการใช้เครื่องทุ่นแรงใกล้มือ เช่น ไม้ กาบหมาก ตอกไม้ไผ่ ฯลฯ จึงเกิดมีรอยด้านหลังปาดกระดาน และหลังกาบหมาก ในหลังพระสมเด็จวัดระฆัง ถ้าพระองค์นั้นสมบูรณ์ดีเรียบร้อยก็จะทำการตัดขอบข้างเลย แต่ถ้ายังไม่เรียบร้อย ก็จะทำการปาดซ้ำ ด้วยไผ่ที่ใช้ตัด จึงพบเห็นเป็นรอยหลายแบบอย่างที่เห็น 

 

จากการสันนิษฐานทั้งหมด ก็ดูเค้าว่าจะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ไม่มีใครที่จะสามารถฟันธงได้ว่า ด้านหลังพิมพ์พระสมเด็จที่เกิดเป็นรอยปาดต่างๆ เกิดจากอะไร เพราะไม่มีใครที่เกิดทันยุคนั้น และไม่พบการบันทึกใดๆ ไม่รู้ว่าเป็นกาบหมากที่ใช้กดพิมพ์พระจริงๆ หรือ เป็นแผ่นไม้กระดานที่เป็นรอยกันแน่ 


 

มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จจากตำรา อ.ตรียัมปวาย 

 

จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ  อ.ตรียัมปวาย  ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า

 

ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย ผงดินสอพอง เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง 

 

ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ

 

เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสสมเนื้อพระ

 

เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ

 

ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ 

 

น้ำมันจันทน์
ได้แก่  น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว

 

เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ

 

และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล 

 

ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโตกล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

 

 

พระคาถาชินบัญชรอันศักดิ์สิทธิ์

 

คาถาที่เราชาวพุทธจะระลึกถึงและหมั่นสวดภาวนาอยู่เสมอ หนึ่งในคาถานั้นคือ ชินบัญชร ที่เชื่อกันว่ามีพลังในการคุ้มครองครอบจักรวาล ซึ่งเป็นพระคาถาที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นำมาชำระใหม่ 

 

โดยมีการสันนิษฐานว่า พระเถระชาวล้านนาได้เป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาที่สำคัญใช้ในพิธีกรรมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ซึ่งท่านทรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น 

 

เนื้อหาในคาถาในชินบัญชรนั้น ว่าด้วยการอัญเชิญพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าตัณหังกร เป็นต้นมา ให้ลงมาสถิตอยู่ในทุกอณูของร่างกาย เพื่อเป็นการเสริมพลังพุทธคุณให้กับตัวเราเอง พร้อมด้วยการอัญเชิญพระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 80 องค์ ซึ่งเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังได้มีการอาราธนาพระสูตรอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ทรงอานุภาพในด้านต่างๆ มาสถิตในทุกส่วนของร่างกายจนรวมกันเป็นกำแพงแก้วคุ้มกัน ตั้งแต่กระหม่อมลงมาห้อมล้อมรอบตัวของผู้สวดพระคาถาชินบัญชร ทำให้ภัยอันตรายต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาสอดแทรกได้ เกิดความเป็นสิริมงคล ศัตรูหมู่มารไม่กล้าผจญ เกิดลาภผลทวีคูณ 

 

 

พระสมเด็จ หลังกาบหมาก 

 

องค์นี้เองเป็น พิมพ์ใหญ่ พระเกศจรดซุ้ม พระพักตร์เรียว ลำพระองค์เล็ก เรียว พื้นด้านในและด้านนอกของซุ้มเรือนแก้วมีรอยแตกตามธรรมชาติของกาลเวลาที่ผ่านพ้นไป ส่วนด้านหลังเป็นพิมพ์กาบหมาก ที่มีรอยลึกลงไปในผิวพระสมเด็จ มีริ้วรอยที่ไปในทิศทางเดียวกัน และมีการแตกลายตามธรรมชาติในพื้นที่ส่วนบนและส่วนล่างของพระสมเด็จ

 

พระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลานั้น ผิวพระสมเด็จมีความมันวาว ดูนุ่มนวล ดังที่ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก บอกว่า ผิวพระแท้จะต้องมีความมันวาว หนึกนุ่มเป็นธรรมชาติ มีการแตกลายธรรมชาติ เนื้อที่มันวาว นุ่มนวล เมื่อส่องด้วยกล้องกำลังขยายสูง ความมันที่เห็น คือ แคลไซซ์ (Calcite) ที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาของแคลเซียมออกไซด์ที่ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี ผลึกซ้อนๆ กัน มีความมันวาว เนื่องจากพระสมเด็จมีมวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย หรือหินปูนเป็นหลัก นั่นเอง

 

พระสมเด็จ หลังกาบหมาก จากกล้องกำลังขยายสูง” 

 


สิ่งสำคัญเหนือกว่าการสะสม พระเครื่องตามความชอบและศรัทธาแล้วนั้น คือ การอนุรักษ์ พุทธศิลป์ของพระเครื่อง เพื่อส่งต่อเรื่องราวความเจริญในพระพุทธศาสนาของประเทศไทยไปยังรุ่นลูกหลานของเราเอง และช่วยกันรักษาประเพณีทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ เพื่อร่วมกันสืบทอดพระพุทธศาสนาไปจนครบ 5,000 ปี และดำรงตนด้วยการปฏิบัติ ปฏิบัติชอบในแนวทางของพระพุทธศาสนาสืบไป 

 

อ้างอิง :

1.https://bit.ly/2NFVNnx
2.https://bit.ly/3dlaHKL

 


เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว 
EduNewsSiam 

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)